จี้เลิกกฎหมายคุ้มครองความรุนแรงครอบครัว ติงเน้นสัมพันธภาพเมินความปลอดภัยเหยื่อ

เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ที่โรงแรมแมนดาริน เวทีถอดบทเรียน “16 ปี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550” เนื่องในโอกาส 8 มีนาคมวันสตรีสากล น.ส.อังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยว่า จากการรวบรวมข่าวจากหนังสือ 11 ฉบับและจากสื่อออนไลน์ตั้งแต่เดือน ม.ค.ถึง ธ.ค. 2564 พบข่าวความรุนแรงในครอบครัว 372 ข่าว เป็นการฆ่ากันในครอบครัวถึง 195 ข่าว คิดเป็น 53% ทำร้ายกัน 82 ข่าว คิดเป็น 22% และฆ่าตัวตาย 52 ข่าว คิดเป็น 14% โดยพบความสัมพันธ์แบบสามีฆ่าภรรยาสูงสุด 57 ข่าว ที่น่าห่วงคือความสัมพันธ์แบบแฟนพบชายกระทำต่อหญิงมากขึ้น 27 ข่าว สาเหตุส่วนใหญ่มาจากความหึงหวงถึง 73% ขณะที่แอลกอฮอล์เป็นปัจจัยที่กระตุ้นถึง 25% ที่น่ากังวลอาวุธที่ก่อเหตุเกือบ 50% ใช้ปืน การแก้ไขปัญหาสังคมต้องเริ่มต้นจากการป้องกัน จับสัญญาณความรุนแรงในคู่รักก่อนทำร้ายกันเช่น หึงหวง เพิกเฉย ทำให้อับอาย ควบคุม รุกราน ข่มขู่ แบล็กเมล์ เป็นต้น เพื่อหาทางออกจากความสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยอย่างสันติ ปรับแก้กฎหมายครอบครัวที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหา
น.ส.อุษา เลิศศรีสันทัด ผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี กล่าวว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ไม่ได้ตอบโจทย์คุ้มครองความปลอดภัยให้กับผู้หญิงที่ถูกกระทำ แต่ไปเน้นให้ผู้กระทำปรับพฤติกรรมทั้งที่ในทางปฏิบัติทำไม่ได้ เน้นรักษาสัมพันธภาพความเป็นครอบครัว พยายามให้ไกล่เกลี่ยคืนดี โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตผู้หญิง และมักนำเรื่องเด็กมาเป็นข้ออ้าง ปีที่แล้วมีกรณีสามีใช้ปืนข่มขู่ภรรยา นำไปสู่การแจ้งความและให้ประกันตัวออกมา สุดท้ายสามีนำปืนยิงภรรยาเสียชีวิต 16 ปี ของกฎหมายยังอยู่ในวังวนการเบี่ยงเบน ผู้หญิงยังถูกเลือกปฏิบัติ ควรยกเลิกและใช้กฎหมายอาญาแทน และควรกำหนดประเด็นความรุนแรงในครอบครัวเป็นวาระแห่งชาติเพื่อให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญ
ขณะที่ น.ส.บุษยาภา ศรีสมพงษ์ จากองค์กร Save the Children กล่าวว่า กฎหมายมีปัญหาตั้งแต่เจตนารมณ์ที่เน้นเรื่องครอบครัว ทั้งที่ต้องให้ความสำคัญในการคุ้มครองผู้ถูกกระทำ ทั้งยังพบความรุนแรงในครอบครัวมีทุกพื้นที่แต่ถูกซุกใต้พรม
ส่วน ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา กล่าวว่า กฎหมายกำหนดให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ดูแลเพียงฝ่ายเดียว ความร่วมมือจากฝ่ายอื่นจึงเป็นแบบกระท่อนกระแท่น.
คุณกำลังดู: จี้เลิกกฎหมายคุ้มครองความรุนแรงครอบครัว ติงเน้นสัมพันธภาพเมินความปลอดภัยเหยื่อ
หมวดหมู่: ภูมิภาค