จากศูนย์รองเท้านารีคืนธรรมชาติ สู่แหล่งท่องเที่ยว สร้างเงินชาวบ้าน

จากศูนย์รองเท้านารีคืนธรรมชาติ สู่แหล่งท่องเที่ยว สร้างเงินชาวบ้าน

โครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ ตามพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ ดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สนองพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการเพาะขยายพันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ และรวบรวมกล้วยไม้รองเท้านารีจากทั่วประเทศ เพื่อการอนุรักษ์และนำคืนสู่ธรรมชาติ

“โครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีฯแห่งนี้ ก่อตั้งเมื่อปี 2547 เป็นโครงการขยายผลมาจาก อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน มีภารกิจอนุรักษ์กล้วยไม้สกุลรองเท้านารีในภาคเหนือ ให้คงอยู่คู่บ้านเรา เพราะถือเป็นกล้วยไม้สายพันธุ์ท้องถิ่นของไทยที่เหลือน้อยลงทุกวันในธรรมชาติ นอก จากนี้ยังเป็นการศึกษาวิจัย ขยายพันธุ์ รวมทั้งฟื้นฟู โดยขณะนี้รองเท้านารีในประเทศมี ทั้งสิ้น 14 ชนิด และสายพันธุ์ย่อยอีก 4-8 ชนิด ส่วนที่โครงการฯอนุรักษ์เพื่อฟื้นฟูสายพันธุ์มี 11 สายพันธุ์ เป็นกลุ่มรองเท้านารีในพื้นที่สูงหรือในพื้นที่ที่มีอากาศหนาว อย่างเช่นภาคเหนือ”

เครือวัลย์ พิพัฒน์สวัสดิกุล
เครือวัลย์ พิพัฒน์สวัสดิกุล

นางเครือวัลย์ พิพัฒน์สวัสดิกุล นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ หัวหน้าโครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ฯ บอกถึงผลจากการขยายพันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน มีการคืนกล้วยไม้รองเท้านารีสู่ธรรมชาติไปแล้วประมาณ 600 กอ โดยกล้วยไม้เหล่านี้จะมีอายุ 5-6 ปี แต่ละกอคัดมาแล้วว่ามีความสมบูรณ์ แข็งแรง สามารถอยู่รอดในธรรมชาติได้

ทั้งนี้ ปัจจุบันโครงการฯได้ส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้เป็น จนสามารถสร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้ป่าหายากจากประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ถือเป็นการขจัดปัญหาการลักลอบนำกล้วยไม้ออกจากป่าธรรมชาติ อันเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ที่สำคัญยังมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยว และจำหน่ายกล้วยไม้ป่า ที่ได้จากการขยายพันธุ์ของโครงการฯ

นอกจากจะอนุรักษ์และนำรองเท้านารีคืนสู่ธรรมชาติแล้ว ขณะนี้ยังมีการขยายผลและต่อยอดไปยังกล้วยไม้ชนิดอื่นที่อยู่บนพื้นที่สูง โดยทำในลักษณะของสวนพฤกษชาติรวบรวมกล้วยไม้บนพื้นที่สูง รวมทั้งยังได้ขยายไปในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ เช่น เฟิร์น และไลเคน โดยเฉพาะไลเคน ที่พบรอบพื้นที่โครงการฯประมาณ 200 ชนิด จึงได้ทำการวิจัยร่วมกับสถาบันไลเคนของมหาวิทยาลัยรามคำแหง และจะนำส่วนนี้มาต่อยอดในการพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ไลเคนของประเทศไทยในอนาคต.

กรวัฒน์ วีนิล

คุณกำลังดู: จากศูนย์รองเท้านารีคืนธรรมชาติ สู่แหล่งท่องเที่ยว สร้างเงินชาวบ้าน

หมวดหมู่: ภูมิภาค

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด