ฉีดยาคุมช้างป่า ประเดิม "อ่างฤาไน" หวังจํากัดประชากร เหตุอาละวาดฆ่าคน

ฉีดยาคุมช้างป่า ประเดิม "อ่างฤาไน" หวังจํากัดประชากร เหตุอาละวาดฆ่าคน

กรมอุทยานฯเตรียมฉีดวัคซีนคุมกำเนิดช้าง นำร่องเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอ่างฤาไน แก้ปัญหาช้างล้นป่าจนขัดแย้งกับชาวบ้านอย่างหนัก เป็นวัคซีนนำเข้าจากเยอรมนี ยื่นขอขึ้นทะเบียนจาก อย.แล้ว ราคาเข็มละ 1 หมื่นกว่าบาท คุมกำเนิดได้ 7 ปี พร้อมวิจัยทำหมันช้างป่า เผยปี 65 มีช้างป่าตาย 43 ตัว ทำคนตาย 22 ศพ ส่วนปี 66 ช้างป่าตายแล้ว 10 ตัว ส่วนคนตายไป 12 ศพ

จากกรณีช้างป่าบุกทำลายผลิตผลทางการเกษตร รวมถึงทำร้ายคนอย่างต่อเนื่อง ต่อมาเมื่อวันที่ 11 มี.ค. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายอรรถพล เจริญชันษา รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ว่า กรมอุทยานฯเตรียมแก้ปัญหาช้างป่าที่มีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างมาก หรือช้างล้นป่าจนส่งผลกระทบกับประชาชนอย่างรุนแรง โดยเฉพาะใน 5 กลุ่มป่า คือป่ารอยต่อ 5 จังหวัด กลุ่มป่าภูกระดึง ภูค้อ ภูกระแต ภูหลวง เป็นต้น ด้วยการคุมกำเนิดช้างด้วยการฉีดวัคซีน ขณะนี้มีการศึกษาวิจัยร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และอีกแนวทางหนึ่งคือการทำพื้นที่ควบคุมพฤติกรรมช้างหรือเขตกักกันช้างป่า โดยพื้นที่ตรงไหนที่มีช้างเกเรออกไปทำลายพืชผลอาสินของประชาชน จะมีการจัดพื้นที่ 1,000-2,000 ไร่ กำหนดให้เป็นพื้นที่ควบคุมช้างเพื่อลดความเสียหายต่อประชาชน

นายอรรถพลกล่าวอีกว่า นอกจากนี้จะนำเงินรายได้ของสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าและสำนักอุทยานฯ ไปช่วยเหลือในการจัดชุดปฏิบัติการเฝ้าระวังและผลักดันช้าง เบื้องต้นมี 15 ชุดในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด โดยจะปล่อยกำลังพลในวันที่ 16 มี.ค.นี้ เป็นหน่วยสกัดกั้นและแจ้งเตือนประชาชนก่อนที่ช้างจะออกมาทำลายพืชผลและสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และจะมีการของบกลางหรืองบสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อให้มีชุดปฏิบัติการดังกล่าวให้ครบทั้ง 16 กลุ่มป่า คาดว่าจะต้องใช้กว่า 100 ชุด รวมทั้งจะมีการตั้งกองทุนเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า เมื่อได้รับความเสียหายแล้ว จะต้องเร่งให้การช่วยเหลืออย่างรวดเร็วและคุ้มค่าเป็นธรรมกับความเสียหาย

ด้านนายเผด็จ ลายทอง ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีช้างอาศัยในธรรมชาติ 4,013-4,422 ตัว ในพื้นที่อนุรักษ์ อุทยานฯและเขตรักษาพันธุ์ฯ 91 แห่ง และป่าสงวนแห่งชาติบางพื้นที่ รวมพื้นที่ 5.2 หมื่น ตร.กม. โดยปี 2565 ที่ผ่านมา มีช้างป่าตาย 43 ตัว บาดเจ็บ 8 ตัวทำคนตาย 22 ราย บาดเจ็บ 14 ราย ส่วนปี 2566 มีช้างป่าตายแล้ว 10 ตัว บาดเจ็บ 10 ตัว คนตาย 12 คน และบาดเจ็บ 14 คน ที่ผ่านมาสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าได้สนับสนุนงบประมาณให้ชุดผลักดันช้างป่าในชุมชนที่มีปัญหา ปีละ 5 หมื่นบาท ก็ยังไม่เพียงพอ เรื่องนี้ต้องสร้างเครือข่ายและอาศัยการมีส่วนร่วมจากชุมชนในการแก้ปัญหาร่วมกัน

ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่ากล่าวอีกว่า การคุม กำเนิดช้าง ขณะนี้ วช.มีการทำวิจัยในเรื่องการทำหมันช้าง ขณะนี้มีความคืบหน้าในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม กรมอุทยานฯร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ยื่นขออนุญาตขึ้นทะเบียนวัคซีนคุมกำเนิดช้างจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยวัคซีนคุมกำเนิดช้างดังกล่าว นำเข้าจากประเทศเยอรมนี ชื่อวัคซีน Spyvax มีการใช้งานแล้วในประเทศแถบแอฟริกา ราคาเข็มละประมาณ 1 หมื่นกว่าบาท สามารถคุมกำเนิดได้ 7 ปี ใช้กับช้างเพศเมียที่ผ่านการมีลูกแล้ว 1 ตัวขึ้นไป เมื่อได้รับอนุญาตจะนำวัคซีนมาทดลองกับช้างบ้านในปางช้างทางภาคเหนือซึ่งได้คัดเลือกไว้แล้ว เพื่อดูในเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีน โดยจะนำไปฉีดนำร่องในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอ่างฤาไน จ.ฉะเชิงเทรา คาดว่าจะดำเนินการได้ในช่วงสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ จะมีการ พัฒนาใช้โดรนในการฉีดวัคซีนคุมกำเนิดและผลักดันช้างป่าต่อไปด้วย

คุณกำลังดู: ฉีดยาคุมช้างป่า ประเดิม "อ่างฤาไน" หวังจํากัดประชากร เหตุอาละวาดฆ่าคน

หมวดหมู่: ภูมิภาค

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด