จปฐ. คืออะไร รู้จักแบบสอบถาม จปฐ. รอเจ้าหน้าที่เคาะประตูบ้าน

จปฐ. คืออะไร รู้จักแบบสอบถาม จปฐ. รอเจ้าหน้าที่เคาะประตูบ้าน

จปฐ. หรือแบบสอบถามข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน ที่กรมการพัฒนาชุมชน จะใช้เป็นเครื่องมือตรวจสอบคุณภาพชีวิตของประชาชน ด้วยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อแก้ปัญหาพื้นฐานของครัวเรือน และปัญหาใดที่ระดับครัวเรือนแก้ไม่ได้ ก็จะมีส่วนราชการและส่วนท้องถิ่นเข้ามาดูแลในอนาคต

จปฐ. คืออะไร รู้จักแบบสอบถาม จปฐ. ตอบก่อนเมษา 2566


จปฐ. คืออะไร จปฐ. คือ แบบทดสอบความเป็นอยู่คุณภาพชีวิตของครัวเรือน จปฐ. ย่อมาจากคำว่า “ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน” จัดเก็บข้อมูลโดยกลุ่มผู้นำชุมชน อาสาสมัคร จากคณะกรรมการบริหารส่วนตำบล และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น โดยมีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนได้พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองและครอบครัว ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีผ่านเกณฑ์ความจำเป็นพื้นฐาน

จปฐ. ย่อมาจาก “ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน” เกิดขึ้นมาจากมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 21 กันยายน 2536 ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชนบทนำข้อมูล จปฐ. ไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาชนบททุกระดับ การกำหนดนโยบาย แนวทางการปฏิบัติ รวมทั้งการอนุมัติโครงการและการติดตามการพัฒนาชนบทด้วย

ข้อมูลนี้จึงจะเป็นข้อมูลกลางของประเทศ ที่ใช้วัดเป้าหมายของครัวเรือนยากจนที่นำไปสู่การจัดการทำแผนชุมชน เพื่อพัฒนาท้องถิ่น เพื่อให้แก้ปัญหา และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น

ข้อมูล จปฐ. ปี 2555-2559 ช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 มี 5 หมวด 30 ตัวชี้วัด ประกอบด้วย

  • หมวดที่ 1 สุขภาพดี มี 7 ตัวชี้วัด
  • หมวดที่ 2 มีบ้านอาศัย มี 8 ตัวชี้วัด
  • หมวดที่ 3 ฝักใฝ่การศึกษา มี 5 ตัวชี้วัด
  • หมวดที่ 4 รายได้ก้าวหน้า มี 4 ตัวชี้วัด
  • หมวดที่ 5 ปลูกฝังค่านิยมไทย มี 6 ตัวชี้วัด

ข้อมูล จปฐ. ปี 2560 อยู่ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560–2564) มีเครื่องชี้วัด 5 หมวด 31 ตัวชี้วัด

จปฐ. 2566

จปฐ. 2566 อยู่ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566–2570) เป็นเครื่องมือชี้วัดข้อมูลที่เพิ่มขึ้นจาก กชช.2ค ดังนี้

หมวดที่ 1 สุขภาพมี 12 ตัวชี้วัด

1. การฝากครรภ์อย่างมีคุณภาพ
2. เด็กแรกเกิดมีน้ำหนัก 2,500 กรัมขึ้นไป
3. เด็กแรกเกิดได้กินนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนแรกติดต่อกัน
4. เด็กแรกเกิดถึง 12 ปี ได้รับวัคซีนป้องกันโรคครบตามตารางสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค
5. เด็กได้รับการดูแลและมีพัฒนาการอย่างเหมาะสม
6. ครัวเรือนกินอาหารถูกสุขลักษณะ ปลอดภัย และได้มาตรฐาน
7. ครัวเรือนมีความรู้และป้องกันตนเองเพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่คุกคามสุขภาวะ
8. ครัวเรือนสามารถดูแลตนเอง/สมาชิก เมื่อมีอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น
9. คนอายุ 6 ปีขึ้นไป ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 30 นาที
10. ผู้ป่วยติดเตียงได้รับการดูแลจากครอบครัว ชุมชน ภาครัฐ หรือภาคเอกชน
11. คนในครัวเรือนมีประกนัสุขภาพ/สิทธิรักษาพยาบาล และทราบสถานพยาบาลที่ใช้บริการตามสิทธิ
12. คนอายุ 35 ปีขึ้นไป ได้รับการตรวจสุขภาพประจำปี

หมวดที่ 2 มาตรฐานความเป็นอยู่ มี 9 ตัวชี้วัด

1. ครัวเรือนมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย บ้านมีสภาพคงทนถาวร และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
2. ครัวเรือนมีการจัดการบ้านเรือนและได้รับบริการจัดเก็บขยะมูลฝอยที่ถูกสุขลักษณะ
3. ครัวเรือนไม่ถูกรบกวนจากมลพิษ
4. ครัวเรือนมีการป้องกันอุบัติภัยอย่างถูกวิธี และมีการเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ
5. ครัวเรือนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
6. ครัวเรือนมีน้ำสำหรับบริโภคและอุปโภคเพียงพอตลอดปี
7. ครัวเรือนเข้าถึงไฟฟ้าและใช้บริการไฟฟ้า
8. ครัวเรือนเข้าถึงและใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ต
9. ครัวเรือนเข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะ

หมวดที่ 3 การศึกษามี 5 ตัวชี้วัด

1. เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี มีพัฒนาการด้านสุขภาพ การเรียนรู้และพัฒนาการทางบุคลิกภาพตามวัย
2. เด็กอายุ 6-15 ปี ได้รับการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี
3. เด็กจบชั้น ม.3 ได้เรียนต่อชั้น ม.4 หรือเทียบเท่า และเด็กที่จบการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี ที่ไม่ได้เรียนต่อและยังไม่มีงานทำ ได้รับการฝึกอบรมด้านอาชีพ
4. คนอายุ 15-59 ปี อ่าน เขียนภาษาไทย ภาษาอังกฤษหรือภาษาที่สาม และคิดเลขอย่างง่ายได้
5. เด็ก เยาวชน/ผู้ใหญ่ มีทักษะการเรียนรู้ที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21

หมวดที่ 4 เศรษฐกิจ มี 4 ตัวชี้วัด

1. คนอายุ 15-59 ปี มีอาชีพ และรายได้
2. คนอายุ 60 ปีขึ้นไป มีอาชีพ และรายได้
3. รายได้เฉลี่ยของคนในครัวเรือนต่อปี
4. ครัวเรือนมีการเก็บออมเงิน

หมวดที่ 5 การคุ้มครองทางสังคมและการมีส่วนร่วม มี 8 ตัวชี้วัด

1. เด็กแรกเกิด-6 ปี ที่ครัวเรือนมีรายได้ 100,000 บาท ต่อคน ต่อปี ที่ได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐ
2. ครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปีและมีสมาชิกที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ได้รับเงินสวัสดิการแห่งรัฐ
3. ครัวเรือนรับการคุ้มครองตามระบบและมาตรการการคุ้มครองทางสังคมจากภาครัฐ และหรือชุมชน ภาคเอกชน
4. ผู้สูงอายุได้รับการดูแลจากครอบครัว ชุมชน ภาครัฐหรือเอกชน
5. ผู้พิการได้รับการดูแลจากครอบครัว ชุมชน ภาครัฐหรือเอกชน ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพชีวิต คนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2556
6. ครอบครัวมีความอบอุ่น
7. คนอายุ 6 ปี ขึ้นไป ปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
8. ครัวเรือนมีส่วนร่วมทำกิจกรรมสาธารณะเพื่อประโยชน์ของชุมชนหรือท้องถิ่น

ความเป็นมาของ จปฐ.

1. ปี พ.ศ. 2525 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มอบให้หมายกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จัดเก็บข้อมูล กชช.2ค ในพื้นที่เป้าหมาย 38 จังหวัด จำนวน 12,586 หมู่บ้าน และขยายจำนวนเพิ่มขึ้นในปีต่อๆ ไป

2. ปี พ.ศ. 2530 คณะรัฐมนตรีประกาศให้เก็บข้อมูล กชช.2ค ทุกสองปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533

3. ปี พ.ศ. 2531 เก็บข้อมูล กชช.2ค ผนวกกับ จปฐ. 56,348 หมู่บ้าน

4. ปี พ.ศ. 2533 เก็บข้อมูล กชช.2ค ผนวก จปฐ. ทุกหมู่บ้าน ตามมติคณะรัฐมนตรี จำนวน 58,057 หมู่บ้าน

5. ปี พ.ศ. 2535 ปรับปรุงเครื่องชี้วัด กชช.2ค ใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7

6. ปี พ.ศ. 2540-2541 ดำเนินการประสานการจัดเก็บข้อมูลกชช.2ค ปี 2542 จำนวน 63,239 หมู่บ้าน

7. ปี พ.ศ. 2545 ปรับปรุงแบบสอบถามและเครื่องชี้วัดข้อมูล กชช.2ค ใหม่ เพื่อให้จัดเก็บข้อมูลในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545–2549)

ประโยชน์ของข้อมูล จปฐ.

1. ประชาชนได้ทราบว่าตัวเองมีคุณภาพชีวิตที่ผ่านเกณฑ์หรือไม่ผ่านเกณฑ์ใดบ้าง
2. ราชการและภาครัฐได้ทราบถึงปัญหาครัวเรือน หมู่บ้าน ตำบล เพื่อร่วมกันวางแผนแก้ไขปัญหา
3. ภาคเอกชนนำข้อมูล จปฐ. มาใช้ตัดสินใจวางแผนการจัดการ เพื่อลงทุนธุรกิจ


จปฐ. เครื่องมือแก้ปัญหาสังคม แก้ปัญหาถูกจุด เกาให้ถูกที่คัน

อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวในคลิป YouTube เชิญชวนให้ข้อมูล จปฐ. กับอาสาสมัคร ระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน 2566 ถึงการเก็บข้อมูลแบบสอบถาม จปฐ. ด้วย 38 ตัวชี้วัด เพื่อทำความเข้าใจให้ประชาชน และอาสาสมัครได้เข้าใจถึง จปฐ. ดังนี้

ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น กรรมการหมู่บ้าน มีหน้าที่ บริหารจัดการเก็บข้อมูล และจัดหาอาสาสมัครจัดเก็บ ประสานอำนวยความสะดวกในการจัดเก็บข้อมูลให้มีประสิทธิภาพ ได้ข้อมูลครบถ้วน ถูกต้อง ทันเวลา และเกิดประโยชน์สูงสุด

บ้านใครที่มีอาสาสมัครมาขอข้อมูลก่อนวันที่ 30 เมษายน 2566 ก็ควรให้ความร่วมมือ ตอบแบบสอบถาม จปฐ. แจ้งข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนพัฒนาประเทศชาติต่อไป

คุณกำลังดู: จปฐ. คืออะไร รู้จักแบบสอบถาม จปฐ. รอเจ้าหน้าที่เคาะประตูบ้าน

หมวดหมู่: ข่าวเศรษฐกิจ/ธุรกิจ

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด