คลัง-ธปท. มองวิกฤต SVB กระทบแค่ความเชื่อมั่น ไม่พบธุรกรรมเชื่อมโยงแบงก์-กองทุนไทย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองวิกฤต SVB ไม่พบธุรกรรมเชื่อมโยงแบงก์ และกองทุนไทย

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง กล่าวถึงกรณีที่ธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่อันดับ 16 ของสหรัฐฯ ถูกสั่งปิด รวมถึงธนาคาร Signature Bank ที่ถูกสั่งปิดด้วยเช่นกันว่า กระทรวงการคลัง ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันต้องรอฟังข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งทำหน้าที่ติดตามเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมา ธปท. ยืนยันมาตลอดว่าเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินไทยมีความมั่นคงแข็งแรง ยังได้รับความน่าเชื่อถืออยู่
“จากที่ติดตามสถานการณ์เบื้องต้น มองว่าน่าจะมีผลกระทบกับบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้น โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของนักลงทุนมากกว่า ส่วนรายละเอียดต่าง ๆ คงต้องรอทาง ธปท. อีกครั้ง ว่าจะมีผลกระทบอะไรกับสถาบันการเงินของไทยหรือไม่” นายอาคม ระบุ
ส่วนตลาดพันธบัตรในขณะนี้ มองว่าเป็นไปตามภาวะตลาด แต่ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับ 2 ธนาคาร มีผลกระทบกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้นักลงทุนตกใจ ซึ่งสะท้อนจากดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลง และเมื่อกระทบกับความเชื่อมั่น ก็จะมีผลทำให้ต้นทุนในเรื่องของความเสี่ยงต่าง ๆ เพิ่มขึ้นด้วย นอกเหนือไปจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) แล้ว ก็ยังมีประเด็นเรื่องเสถียรภาพและความมั่นคงของธนาคารในสหรัฐฯ อีกด้วย
“เท่าที่ติดตามดูตอนนี้ จะมีกระทบแค่ตลาดหุ้น โดยเฉพาะบรรยากาศการลงทุน จากความเชื่อมั่นของนักลงทุน แต่อยากให้ดูอย่างดาวน์โจนส์ หลังจากที่มีการประกาศเรื่องความชัดเจนของภาระต่าง ๆ ในประเด็นที่เกิดขึ้น หุ้นก็เริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่เคสอย่างนี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสมัยวิกฤติฟองสบู่ของเรา แต่ของสหรัฐฯ ในรอบนี้ขนาดใหญ่กว่า จำนวนธนาคารในสหรัฐก็เยอะมาก เรื่องที่เกิดเข้าใจว่าเป็นปัญหาเรื่องของการขาดสภาพคล่องของทั้ง 2 ธนาคาร ซึ่งก็ถูกต้องแล้วที่ทางการเขาจะดำเนินการอย่างนี้ ซึ่งหลักการของเขาก็จะคล้ายกับของเรา คือ ต้องไม่เป็นภาระประชาชน” นายอาคม กล่าว
พร้อมระบุว่า เบื้องต้นทราบว่าสถาบันการเงินหรือกองทุนต่าง ๆ ของไทย เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ไม่ได้มีธุรกรรมกับ 2 ธนาคารดังกล่าว ดังนั้นจึงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร และไม่ส่งผลกับระบบการเงินของไทย
ส่วนเรื่องการคุ้มครองเงินฝาก ขณะนี้สหรัฐฯ ได้ดำเนินการเช่นเดียวกับที่ไทยได้ทำเมื่อปี 2540 ซึ่งมีการคุ้มครองในระดับจำนวนหนึ่ง แต่ของไทยนั้นการคุ้มครองเมื่อถึงจุดหนึ่งที่หมดความจำเป็น ก็ปรับลดลงมาจนอยู่ในระดับปัจจุบัน ซึ่งเรื่องการคุ้มครองเงินฝากเราทำมาก่อนแล้ว ส่วนเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อของไทยนั้น ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะพิจารณา โดยจะมีการรายงานข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบด้วย
“อย่าไปพูดว่าเราไม่กังวล แต่เป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ก็ติดตามอยู่ และก็ได้ประสานกับผู้ว่าการ ธปท. อยู่แล้ว ส่วนที่ว่าจะเป็นจะต้องตั้งทีมพิเศษเพื่อติดตามเรื่องนี้หรือไม่นั้น เชื่อมั่นว่า ธปท. ก็เพียงพออยู่แล้ว” นายอาคม กล่าว
ด้าน น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงสถานการณ์ในไทย ผลกระทบจากกรณี SVB ต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยมีจำกัด เนื่องจากไม่มี ธนาคารพาณิชย์ของไทยที่มีธุรกรรมโดยตรงกับ SVB และปริมาณธุรกรรมโดยรวมของกลุ่ม ธนาคารพาณิชย์ของไทยใน Fintech และ Startup ทั่วโลกมีน้อยกว่า 1 % ของเงินกองทุนของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ที่สำคัญพบว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยไม่มีการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัล ขณะที่กลุ่มธุรกิจของ ธนาคารพาณิชย์ถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลในระดับต่ำที่ประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่ง ธปท. ขอย้ำว่ามีการกำกับดูแลธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลและ venture capital ที่เข้มงวด เช่น การให้หักเงินลงทุนในเหรียญออกจากเงินกองทุนชั้นที่ 1 (CET1) ในทุกกรณี รวมทั้งกำหนดเพดานการลงทุนและการกำกับความเสี่ยงในด้านต่างๆ เพื่อป้องกันผลกระทบจากความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มธนาคารพาณิชย์ต่อเงินฝากของประชาชน
ด้านค่าเงินบาท ล่าสุดปรับแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาค ภายหลังนักลงทุนคาดการณ์ว่าเหตุการณ์ข้างต้นจะส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้เงินดอลลาร์ สรอ. ปรับอ่อนค่าลงเร็ว ซึ่งความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินสหรัฐฯ จะยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อตลาดการเงินโลกและความผันผวนของค่าเงินบาทในระยะถัดไป
คุณกำลังดู: คลัง-ธปท. มองวิกฤต SVB กระทบแค่ความเชื่อมั่น ไม่พบธุรกรรมเชื่อมโยงแบงก์-กองทุนไทย
หมวดหมู่: ข่าวเศรษฐกิจ/ธุรกิจ