คนเกาหลีใต้ 2 ใน 3 อยากได้นิวเคลียร์สู้เปียงยาง แต่ผลเสียอาจมากกว่าดี

ชาวเกาหลีใต้กว่า 2 ใน 3 ส่วน สนับสนุนให้ประเทศพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เป็นของตัวเอง แต่นักวิเคราะห์หลายคนเตือนว่าผลที่ได้ตามมาอาจเสียมากกว่าดี

คนเกาหลีใต้ 2 ใน 3 อยากได้นิวเคลียร์สู้เปียงยาง แต่ผลเสียอาจมากกว่าดี
  • โพลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดชี้ว่า ชาวเกาหลีใต้กว่า 2 ใน 3 ส่วน สนับสนุนให้ประเทศพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เป็นของตัวเอง เพื่อป้องปรามภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ

  • ความคิดเรื่องการมีอาวุธนิวเคลียร์เป็นของตัวเอง แพร่กระจายเป็นวงกว้างในหมู่ชาวเกาหลีใต้มากขึ้นเรื่อยๆ จากความก้าวหน้าในการพัฒนาอาวุธของเกาหลีเหนือ และความไม่เชื่อใจสหรัฐฯ

  • นักวิเคราะห์หลายคนเตือนว่า หากเกาหลีใต้ตัดสินใจเดินหน้าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เป็นของตนเอง ก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่พวกเขาต้องสละทิ้งไป ซึ่งอาจเป็นผลเสียมากกว่าผลดี

ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดในเกาหลีใต้ชี้ให้เห็นว่า ชาวโสมขาวกว่า 2 ใน 3 ต้องการให้ประเทศของพวกเขามีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองเป็นของตัวเอง เพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือซึ่งพัฒนาขีปนาวุธและวิทยาการนิวเคลียร์อย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยไม่ต้องรอความคุ้มครองจากสหรัฐฯ อีกต่อไป

ความคิดเรื่องการมีอาวุธนิวเคลียร์เป็นของตัวเอง แพร่กระจายเป็นวงกว้างในหมู่ชาวเกาหลีใต้ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แม้แต่ประธานาธิบดี ยูน ซอก-ยอล ยังเปรยถึงความเป็นไปได้ในเรื่องนี้ระหว่างการประชุมเจ้าหน้าที่กลาโหม ขณะที่สื่อก็เขียนคอลัมน์เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า สะท้อนถึงความกังวลของชาวเกาหลีใต้ที่เพิ่มมากขึ้น

เกาหลีใต้เคยพยายามพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของตัวเองมาก่อนในช่วงทศวรรษที่ ‘70s แต่ถูกสหรัฐฯ ยื่นคำขาดว่าจะพัฒนาต่อไปแล้วเดินต่อเองคนเดียว หรือให้สหรัฐฯ ช่วยคุ้มครองด้วยคลังแสดงนิวเคลียร์ของพวกเขา ซึ่งตอนนั้นโซลเลือกความคุ้มครองของสหรัฐฯ แต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว ชาวเกาหลีใต้เริ่มไม่เชื่อมั่นว่าวอชิงตันจะมาช่วยพวกเขาหากเมืองในสหรัฐฯ เสี่ยงถูกเกาหลีเหนือโจมตีด้วย

อย่างไรก็ตาม หากเกาหลีใต้ตัดสินใจเดินหน้าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เป็นของตนเอง ก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่พวกเขาต้องสละทิ้งไป ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนมองว่า เป็นผลเสียมากกว่าผลดี

ประธานาธิบดี ยูน ซอก-ยอล แห่งเกาหลีใต้
ประธานาธิบดี ยูน ซอก-ยอล แห่งเกาหลีใต้

ทำไมชาวเกาหลีใต้อยากได้ระเบิดนิวเคลียร์

เมื่อวันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา สถาบันเอเชียเพื่อการศึกษานโยบาย ในกรุงโซล เผยผลสำรวจความคิดเห็นฉบับใหม่ซึ่งปรากฏว่า ชาวเกาหลีใต้กว่า 64.3% สนับสนุนให้รัฐบาลพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ขณะที่ 33.3% คัดค้าน

นายโทบี ดัลตัน และนาย แวน แจ็กสัน เขียนบทความไว้บนเว็บไซต์ globalasia ระบุว่า ความกลัวของชาวเกาหลีใต้ซึ่งผลักดันให้พวกเขาต้องการหันหน้าเข้าหาอาวุธนิวเคลียร์นั้น เป็นสิ่งที่เข้าใจได้อย่างยิ่ง เนื่องจากคลังแสงนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเป็นความท้าทายที่น่าเกรงขาม การบริหารจัดการความเสียงที่จะเกิดความขัดแย้งก็ซับซ้อนมากขึ้น

เกาหลีเหนือมีขีปนาวุธนิวเคลียร์พิสัยใกล้และระดับข้ามทวีป ซึ่งสามารถโจมตีเกาหลีใต้กับสหรัฐฯ ได้ ทำให้เกิดสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกในการป้องปรามสำหรับทั้งโซลและวอชิงตัน เพราะถ้าหากเกาหลีเหนือยิงนิวเคลียร์ใส่เกาหลีใต้ขึ้นมา สหรัฐฯ จะกล้ามาช่วยหรือไม่ ถ้าเมืองของพวกเขาก็เสี่ยงถูกนิวเคลียร์โจมตีเหมือนกัน

ฝ่ายที่สนับสนุนอาวุธนิวเคลียร์ในเกาหลีใต้เชื่อว่า การมีอาวุธมหาประลัยชนิดนี้จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งของการป้องปรามในการเผชิญหน้ากับคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า มีเพียงอาวุธนิวเคลียร์ที่จะสามารถป้องปรามอาวุธนิวเคลียร์ได้ และม่านนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ไม่เพียงพอต่อการป้องปรามอีกต่อไป

โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ
โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ

เริ่มไม่เชื่อคำมั่นของสหรัฐฯ

ตามรายงานของสำนักข่าว บีบีซี กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ‘ที่ประชุมนโยบายนิวเคลียร์’ (Nuclear Policy Forum : NPF) ซึ่งมีสมาชิกหลายคนเป็นนักการเมือง, นักวิทยาศาสตร์ และเจ้าหน้าที่ของกองทัพ จัดการประชุมแบบลับๆ ขึ้นที่ชั้นใต้ดินของร้านอาหารแห่งหนึ่งในกรุงโซล เพื่อหารือกันว่า ทำอย่างไรเกาหลีใต้จึงจะสามารถพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของตัวเองได้

ที่ประชุม NPF ไม่เชื่อว่าสหรัฐฯ จะมาช่วยเกาหลีใต้ สมมติว่า คิม จอง-อึน ตัดสินใจโจมตีกรุงโซล ซึ่งทำให้สหรัฐฯ ต้องเข้ามาแทรกแซงตามพันธสัญญา แต่ถ้าคิมขู่จะยิงนิวเคลียร์ใส่แผ่นดินสหรัฐฯ รัฐบาลวอชิงตันจะเสี่ยงให้เมืองอย่างซานฟรานซิสโกกลายเป็นซากเพื่อช่วยกรุงโซลหรือไม่? พวกเขาเชื่อว่า ไม่

สอดคล้องกับผลสำรวจของ สถาบันเอเชียเพื่อการศึกษานโยบาย ที่ระบุว่า ชาวเกาหลีใต้ 54.2% คิดว่าจะสหรัฐฯ จะไม่เสี่ยงมาช่วยเกาหลีเหนือ หากดินแดนของพวกเขาเสี่ยงถูกโจมตี

แน่นอนว่า การมีอาวุธนิวเคลียร์เป็นของตัวเองของเกาหลีใต้ ไม่ใช่สิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการเลย แต่นโยบายของสหรัฐฯ เองนี่แหละเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกาหลีใต้หันหน้าไปทางนั้น ในปี 2559 โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในตอนนั้น กล่าวหาเกาหลีใต้ว่าพึ่งพาพวกเขาฟรีๆ พร้อมขู่จะเรียกร้องให้รัฐบาลโซลจ่ายเงินค่าคุ้มครอง มิฉะนั้นจะถอนทหาร

แม้ว่าเรื่องเหล่านั้นจะไม่เกิดขึ้นจริงๆ แต่คำพูดของนายทรัมป์ได้ปลูกฝังความกังวลในใจของชาวเกาหลีใต้ไปแล้ว ว่าคำสัญญาของสหรัฐฯ ขึ้นอยู่กับผู้นำแต่ละคนเท่านั้น และพวกเขาควรมีระเบิดนิวเคลียร์เป็นของตัวเอง

“สหรัฐฯ จะไม่ใช้นิวเคลียร์ของพวกเขาเพื่อปกป้องเรา ดังนั้นเราควรควบคุมการป้องกันของตัวเอง” นายคู ซอง-วุค อายุ 31 ปี กล่าว โดยเขาเปลี่ยนแนวคิดเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างที่เขารับราชการทหารในช่วงปี 2553 ที่เกาหลีเหนือยิงปืนใหญ่เข้าใส่เกาะของเกาหลีใต้จนมีผู้เสียชีวิต 4 ศพ “ตอนนั้นมันเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินจริงๆ หน่วยต่างๆ โทรศัพท์หาพ่อแม่และเขียนพินัยกรรมกันแล้ว”

ส่วนนาง ฮง อิน-ซู อายุ 82 ปี ซึ่งใช้ชีวิตวัยเด็กในยุคสงครามเกาหลี กล่าวว่า เธอเคยอยู่ฝ่ายต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ แต่ตอนนี้เธอเริ่มคิดว่า มันคือความชั่วร้ายที่จำเป็น “ประเทศอื่นๆ ก็กำลังพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของตัวเอง ดังนั้นฉันจึงไม่เห็นว่าทำไมเราจึงไม่ควรมีมัน โลกกำลังเปลี่ยนไปแล้ว”

ขณะเดียวกัน ความไม่เชื่อมั่นระหว่างรัฐบาลก็กำลังเพิ่มสูงขึ้น นักการเมืองของเกาหลีใต้ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอะไรจะเป็นตัวจุดชนวนให้สหรัฐฯ กดปุ่มยิงนิวเคลียร์เพื่อช่วยพวกเขา และในข้อตกลงปัจจุบัน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ไม่จำเป็นต้องบอกผู้นำเกาหลีใต้ก่อนที่สหรัฐฯ จะตัดสินใจเรื่องการยิงนิวเคลียร์ด้วยซ้ำ

เกาหลีเหนือโชว์พาเหรดขีปนาวุธข้ามทวีปในวันครบรอบ 75 ปีการก่อตั้งกองทัพ
เกาหลีเหนือโชว์พาเหรดขีปนาวุธข้ามทวีปในวันครบรอบ 75 ปีการก่อตั้งกองทัพ

มีนิวเคลียร์ อาจเสียมากกว่าได้

อย่างไรก็ตาม การหันหน้าเข้าหาอาวุธนิวเคลียร์เป็นการตัดสินใจที่ใหญ่มาก นักวิเคราะห์หลายคนเตือนว่า ผลเสียที่จะเกิดขึ้นตามมาอาจมากกว่าผลดี

นางเจนนี ทาวน์ จากคณะวิจัย 38 North ไม่เชื่อว่าการมีอาวุธนิวเคลียร์จะทำให้เกาหลีเหนือเป็นภัยน้อยลง “การมีอาวุธนิวเคลียร์มากขึ้นไม่ได้ทำให้โลกปลอดภัยจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์มากขึ้น” พร้อมยกตัวอย่างสถานการณ์ในอินเดียกับปากีสถาน ซึ่งยังมีปัญหากันมาจนถึงทุกวันนี้ และอาวุธนิวเคลียร์กลับทำให้ทั้งสองฝ่ายกล้าทำอะไรมากขึ้น เพราะรู้ว่าอีกฝ่ายไม่กล้าตอบโต้

ระเบียบโลกในปัจจุบันตั้งอยู่บนหลักการของการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ และผู้ที่พยายามฝ่าฝืนระเบียบนั้น อย่างเช่น อิหร่านกับเกาหลีเหนือ ก็กำลังเผชิญบทลงโทษรุนแรงจากหลายประเทศทั่วโลก แม้นักวิเคราะห์จะเชื่อว่า เกาหลีใต้อาจไม่โดนการลงโทษแบบเดียวกัน แต่อาจส่งผลให้สหรัฐฯ ฐานตัวจากพันธสัญญาป้องกันทางทหาร

ขณะที่จีนอาจตอบโต้ด้วยการคว่ำบาตร เสื่อมเสียชื่อเสียงระดับนานาชาติที่สร้างสมมา และในกรณีที่เลวร้ายที่สุดอาจถึงขั้นถูกโดดเดี่ยว กลายเป็นรัฐที่ล้มเหลวอีกแห่ง

นายดัลตันกับนายแจ็กสันระบุว่า ภัยคุกคามที่เกาหลีใต้เผชิญถึงจะแก้ไขไม่ได้แต่ยังบริหารจัดการได้ เกาหลีเหนือจะครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ในอนาคตอย่างแน่นอน แต่จีนจะเป็นความเสี่ยงที่ใหญ่กว่าและแข็งแกร่งกว่าอยู่เสมอ การมีนิวเคลียร์ไม่ช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ รวมถึงความกังวลว่าจู่ๆ สหรัฐฯ จะถอนความร่วมมือ และการมีนิวเคลียร์แทนที่การสนับสนุนทางทหารจากชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ไม่ได้

วิธีจัดการภัยคุกคามที่ดีที่สุดสำหรับเกาหลีใต้อาจเป็นวิธีที่ได้รับการพิสูจน์มาแล้วหลายต่อหลายครั้งในอดีต นั่นคือการใช้หลักการเจรจาอย่างระมัดระวังกับเกาหลีเหนือ เพื่อหลีกเลี่ยงการกระตุ้นให้เกิดความขัดแย้ง และลดความเป็นไปได้ของการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ การรักษาความเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ อย่างยิ่งยื่น และเสริมสร้างความร่วมมือแบบไตรภาคีกับญี่ปุ่น แม้จะไม่สมบูรณ์แบบก็ตาม





ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี

ที่มา : bbc , globalasia , japantimes

คุณกำลังดู: คนเกาหลีใต้ 2 ใน 3 อยากได้นิวเคลียร์สู้เปียงยาง แต่ผลเสียอาจมากกว่าดี

หมวดหมู่: ต่างประเทศ

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด