“โควิด” พุ่งตามคาด ป่วย 1,088 ดับ 5 นพ.มนูญเปิดภาพคนไข้ไทย สงสัย XBB.1.16

ตามคาดยอดผู้ป่วยโควิด-19 เข้ารักษาใน รพ.หลังจบ สงกรานต์ครบสัปดาห์พุ่งทะยานกว่าเท่าตัว เสียชีวิต 5 คน ในจำนวนนี้ 4 คนเป็นกลุ่ม 608 ไม่ได้รับวัคซีนเลย โดยไทยมีผู้สูงอายุยังไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียวเกือบ 2 ล้านคน กรมควบคุมโรคย้ำได้เวลาฉีดวัคซีนอีกรอบ เพื่อลดป่วยรุนแรงและเสียชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเสี่ยง ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ฉีดได้ที่สถานพยาบาลทุกแห่ง ด้าน กทม.เตรียมเปิดเพิ่มอีก 6 โซน ฉีดวัคซีนในวันเสาร์ ประสานห้างดังเปิดจุดบริการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น

สถานการณ์โรคโควิด-19 ในไทยหลังจบสงกรานต์ 7 วัน พุ่งขึ้นตามคาด โดยเมื่อวันที่ 24 เม.ย.กรมควบคุมโรครายงานสถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 สัปดาห์ที่ 16 วันที่ 16-22 เม.ย.2566 พบผู้รักษาตัวในโรงพยาบาล 1,088 คน เฉลี่ยวันละ 155 คน ผู้เสียชีวิต 5 คน เฉลี่ยวันละ 1 คน ผู้ป่วยปอดอักเสบ 73 คน ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 35 คน สูงขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ 15 วันที่ 9-15 เม.ย.2566 ที่พบผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล 435 คน เฉลี่ยวันละ 62 คน เสียชีวิต 2 คน ผู้ป่วยปอดอักเสบ 30 คน ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 19 คน
ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ที่กระทรวงสาธารณสุขถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่า หลังเทศกาลสงกรานต์มีรายงานพบผู้ป่วยโควิด-19 เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 1,088 คน เพิ่มขึ้น 2 เท่ากว่า และเสียชีวิต 5 คน ในจำนวนนี้ 4 คน เป็นกลุ่ม 608 ที่ไม่ได้รับวัคซีนเลยแม้แต่เข็มเดียว ส่วนอีก 1 คน ได้รับวัคซีน 2 เข็ม ซึ่งเป็นไปตามคาดการณ์ว่าหลังเทศกาลสงกรานต์จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น และอยากเชิญชวนให้กลุ่ม 608 มาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นพร้อมกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่สถานพยาบาลทุกแห่ง
นพ.ธเรศกล่าวอีกว่า ส่วนกรณีแรงงานเมียนมาเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 นั้น กรมควบคุมโรคได้รับข้อมูลเบื้องต้นจากโรงพยาบาลจุฬาฯ ว่า ผู้ตายมีอาการปอดอักเสบและไม่ได้รับวัคซีน แต่กำลังสอบสวนโรคในรายละเอียดเพิ่มเติมจะเห็นได้ถึงประโยชน์ของการได้รับวัคซีนว่าจะช่วยลดความรุนแรงและเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ กลุ่มผู้สูงอายุในไทยที่ยังไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียวมีเกือบ 2 ล้านคน เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องกระตุ้นและเชิญชวนให้มารับวัคซีน ทั้งนี้ เรามีการฉีดวัคซีนมา 2 ปี มีข้อมูลความปลอดภัย ลดความรุนแรงและเสียชีวิตได้ซึ่งคุ้มค่ามาก โดยการรณรงค์เชิญชวนให้ผูู้สูงอายุมาฉีดนั้น จะใช้กลไก อสม.เข้าไปประเมินสุขภาพผู้สูงอายุมาเชิญชวนให้มาฉีด รวมทั้งขอให้สถานพยาบาลทุกแห่งช่วยรณรงค์ด้วย ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้เตรียมการรองรับทั้งยา เวชภัณฑ์ เตียง แต่เมื่อดูอัตราการป่วยขณะนี้ยังถือว่าอยู่ในระดับสีเขียว
ขณะที่ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มกระตุ้นในกลุ่มเด็กว่า กรณีเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป สามารถรับวัคซีนเข็มกระตุ้นได้เหมือนผู้ใหญ่ โดยใช้ชนิดไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา ซึ่งมีรุ่น 2 ส่วนอายุ 12 ปีลงมา ใช้ตามชนิดของวัคซีน โดยกลุ่มเด็กโต อายุ 5-11 ขวบ ใช้ไฟเซอร์ฝาสีส้ม รุ่น 1 ซึ่งมีประสิทธิภาพกระตุ้นภูมิได้ดี และกลุ่มเด็กเล็ก 6 เดือนถึง 4 ขวบ ใช้ไฟเซอร์ฝาส้มรุ่น 1 เช่นกัน โดยกลุ่มเด็กเล็ก ปกติจะได้รับ 3 เข็ม โดยเข็ม 2 ห่างจากเข็มที่ 1 เป็นเวลา 3 สัปดาห์ เข็มที่ 3 ห่างจากเข็ม 2 เป็นเวลา 8 สัปดาห์ โดยรวมเข็มที่ 1-3 จะห่างกัน 11 สัปดาห์ ซึ่งเด็กเล็กเริ่มฉีดตั้งแต่เดือน ต.ค.ปีก่อน จนถึงขณะนี้เกินเวลา 6 เดือนแล้ว ควรได้รับเข็มกระตุ้น อย่างไรก็ตาม การฉีดเข็มกระตุ้นในเด็กและเด็กเล็กจะเน้นฉีดเด็กที่มีความเสี่ยงคือ มีโรคประจำตัว เช่น คลอดก่อนกำหนด โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง หอบหืด หรืออ้วนมากๆ ส่วนคำแนะนำในการฉีดคือ ให้ฉีดตามความเสี่ยง โดยเฉพาะเด็กที่มีโรคประจำตัวตามกลุ่มอายุ สามารถฉีดได้ที่โรงพยาบาลที่เด็กรักษาตัว ส่วนเด็กปกติทั่วไป ฉีดตามความเสี่ยง เช่น เด็กที่มีพ่อแม่ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มอาชีพที่ต้องพบกับคนจำนวนมาก และเป็นการฉีดตามความยินยอมของผู้ปกครอง สามารถฉีดได้ในสถานพยาบาลทุกแห่ง
ส่วนกรณีพบอาการของผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์ XBB.1.16 ที่มีอาการตาแดงร่วมด้วยนั้น นพ.โสภณกล่าวว่า จากข้อมูลปัจจุบันอาการยังเหมือนกับโอมิครอนสายพันธุ์อื่น คือ ไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ปวดเมื่อยตามตัว ส่วนรายงานว่ามีอาการตาแดงนั้นเป็นรายงานที่ประเทศอินเดีย สำหรับประเทศไทย ซึ่งพบผู้ป่วยสายพันธุ์นี้จำนวน 20 กว่าคน อาการตาแดงยังไม่ใช่อาการเด่น เท่าที่มีรายงานเรื่องตาอักเสบพบเฉพาะในอินเดียเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในอดีตอาการของโรคโควิด-19 ก็พบอาการตาอักเสบได้เช่นกัน แต่เป็นส่วนน้อยมากๆ คาดว่าอีกไม่นานเราจะมีข้อมูลอาการผู้ป่วย XBB.1.16 ที่เป็นของไทย
อย่างไรก็ตาม นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ รพ.วิชัยยุทธ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุพบคนไทยติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการตาแดงร่วมด้วยแล้ว พร้อมภาพดวงตาที่แดงและมีขี้ตา คาดว่าเป็นของผู้ป่วยที่ระบุเป็นชายไทยอายุ 42 ปี วันที่ 13 เม.ย.2566 ระหว่างอยู่ต่างประเทศ เริ่มมีไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล กลับถึงประเทศไทย วันที่ 16 เม.ย. ตาแดงมีขี้ตาเหนียวทั้ง 2 ข้าง ลืมตาได้ ไม่คันตา ไม่เจ็บตา ตามองเห็นปกติ ไม่มีประวัติโรคภูมิแพ้ เคยติดเชื้อโควิดเมื่อมกราคม 2565 ครั้งนั้นตาไม่แดง ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา 2 เข็ม และโมเดอร์นา 1 เข็ม วันที่ 17 เม.ย.2566 ตรวจ ATK ให้ผลบวก เอกซเรย์ปอดปกติ ได้ยาโมลนูพิราเวียร์ อาการต่างๆ ไข้ ไอ ดีขึ้น ตาแดง ดีขึ้นใช้เวลา 7 วัน ผู้ป่วยรายนี้น่าจะติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 จากต่างประเทศมากที่สุด ทำให้เกิดอาการตาแดง มีขี้ตาเหนียวร่วมด้วย

ขณะเดียวกัน นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย ได้ออกมาแนะนำว่าขณะนี้หลายพื้นที่กลับมาจัดงานต่างๆ กันมากขึ้น อาทิ การจัดคอนเสิร์ต การแข่งขันกีฬา ทำให้มีการรวมตัวของคนเป็นจำนวนมาก อาจมีการสัมผัสใกล้ชิด การร้องเพลงหรือตะโกน รวมถึงระยะเวลาการร่วมกิจกรรมใช้เวลานาน เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ได้ กรมอนามัยขอให้ผู้จัดงานยังคงปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเว้นระยะห่างและกำหนดจำนวนคนต่อพื้นที่ไม่ให้หนาแน่นจนเกินไป โดยเฉพาะในอาคารพื้นที่ปิดที่อาจมีการระบายอากาศไม่ดี ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ไมโครโฟน ราวบันได ที่จับประตู ปุ่มกดลิฟต์ และห้องน้ำห้องส้วม จัดให้มีจุดบริการล้างมือเพียงพอ และกำจัดขยะมูลฝอยอย่างถูกสุขลักษณะทุกวัน เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อไปในวงกว้าง ส่วนประชาชนหากมีอาการเสี่ยงหรืออาการทางระบบทางเดินหายใจให้เลี่ยงเข้าร่วมงาน ผู้ที่เข้าร่วมงาน สามารถป้องกันตนเอง โดยการสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ
วันเดียวกัน ที่ศาลาว่าการ กทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหาร กทม. ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ใน กทม.ว่าขณะนี้โรคโควิด-19 กลับมาระบาดอีกครั้งเปรียบเทียบช่วงก่อนสงกรานต์พบผู้ติดเชื้อ ประมาณ 300 รายต่อวัน หลังเทศกาลสงกรานต์พบผู้ติดเชื้อประมาณ 1,000 รายต่อวัน อยากจะเน้นให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือเข็มบูสเตอร์ ประกอบกับใกล้เปิดเทอมแล้ว คาดว่าจะมีประชาชนที่ยังไม่ได้ฉีดหลักล้านคน ที่ผ่านมา กทม.จำเป็นต้องปิดศูนย์ฉีดวัคซีนที่ศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง เนื่องจากใช้พื้นที่สำหรับการเตรียมเลือกตั้ง ส.ส.ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานภาคเอกชนใช้พื้นที่ตั้งหน่วยฉีดวัคซีนเพิ่มเติมนอกจากที่ รพ.สังกัด กทม.และศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง
ขณะที่ น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ช่วงเดือน มีค.มีผู้ติดเชื้อโควิด 100 รายต่อวัน วันที่ 10 เม.ย.ติดเชื้อ 300 รายต่อวัน ช่วงวันที่ 17-18 เม.ย.ยอดติดเชื้อเพิ่มขึ้น 1,000 รายต่อวัน หลังจากนั้นลดเหลือ 500 รายต่อวัน ซึ่งอนุมานได้ว่าช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อ 1,000 รายต่อวัน เป็นการแพร่ระบาดที่เร็วและติดเชื้อง่ายโดยเฉพาะกลุ่ม 607 และ 608 ติดเชื้อง่าย จึงขอความร่วมมือคนที่เข้าร่วมกิจกรรมและใกล้ชิดกับคนที่มีโรคประจำตัวกระชับมาตรการป้องกันมากขึ้น ปัจจุบันอัตราการรับผู้ป่วยเข้ารับรักษาอยู่ที่ 40 เปอร์เซ็นต์ เหลืออีก 60 เปอร์เซ็นต์ ถ้าหากอัตราการครองเตียงสูงขึ้นถึง 80 เปอร์เซ็นต์ กทม.เตรียมพร้อมโดยจะเพิ่มเตียงอีก 2 เท่า อย่างไรก็ตาม อยากให้ประชาชนที่ฉีดเข็มบูสเตอร์เมื่อ 3-4 เดือนที่ผ่านมา ให้ไปฉีดเข็มบูสเตอร์เพื่อป้องกัน ได้ที่ รพ.สังกัด กทม. เปิดให้บริการวันจันทร์-วันศุกร์ ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง ทุกวันพุธ และวันศุกร์ เวลา 09.00-15.00 น. นอกจากนี้ กทม. เตรียมเปิดโซนฉีดวัคซีนเพิ่มอีก 6 โซนในวันเสาร์ และเตรียมเจรจากับห้างเซ็นทรัลและห้างเทอร์มินอล 21 เปิดจุดให้บริการฉีดวัคซีนอีกครั้ง
คุณกำลังดู: “โควิด” พุ่งตามคาด ป่วย 1,088 ดับ 5 นพ.มนูญเปิดภาพคนไข้ไทย สงสัย XBB.1.16
หมวดหมู่: ภูมิภาค
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- อังกฤษจับตา โควิด XBB.1.16 ทำดับแล้ว 5 ศพ อินเดียเตือนตาแดง ไข้สูง
- อัตราว่างงานไทยต่ำกว่า 1% ครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปี คืนสู่ระดับก่อนเกิดโควิด
- ระทึก โควิด-19 คร่าชีวิตชายเร่ร่อน นอนตายหน้าแบงก์ดัง ตรวจพบขึ้น 2 ขีด
- แพทย์ชี้แนวโน้มโควิด-19 ระบาดเพิ่มใน 2 สัปดาห์ คาดเข้าฤดูฝนจะสูงขึ้นอีก
- หมอธีระ อัปเดตสถานการณ์โควิด พบสัดส่วนตรวจพบ XBB.1.16 มากขึ้น