กกพ.ยันคิดค่าไฟ 4.70 บาท ยืนกรานรอบนี้ไม่เปลี่ยนสูตรค่าเอฟที

กกพ.ยืนมติค่าไฟฟ้างวดเดือน พ.ค.–ส.ค.นี้ ที่ 4.70 บาทต่อหน่วย ยันรอบนี้ไม่เปลี่ยนสมมติฐานคำนวณสูตรค่าเอฟที และไม่ต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมอีก แต่พร้อมรับฟังข้อเสนอเอกชนให้เปลี่ยนทุกๆ 2 เดือนในรอบต่อๆไป
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกพ.มีมติปรับลดค่าไฟฟ้างวดเดือน พ.ค.-ส.ค.นี้ ที่เรียกเก็บกับประชาชน ลดลง 7 สตางค์ (สต.) ต่อหน่วย หรือจากที่จะจัดเก็บในอัตรา 4.77 บาทต่อหน่วย เหลือเพียง 4.70 บาทต่อหน่วย ซึ่งถือเป็นการลดลง 2 สต.ต่อหน่วย จากงวดปัจจุบันในเดือน ม.ค.-เม.ย.นี้ที่อยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย ตามที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เข้ามาช่วยรับภาระค่าไฟฟ้าแทนประชาชนในงวดนี้ โดยไม่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง เนื่องจากสมมติฐานที่ใช้ในการคำนวณสูตรค่าเอฟทีไม่เปลี่ยนแปลงไป จากการพิจารณาก่อนหน้านี้ที่ กกพ.ได้เปิดให้สาธารณชนแสดงความคิดเห็นไปแล้ว
สำหรับขั้นตอนต่อไป กกพ.จะทำหนังสือแจ้งไปยัง 3 การไฟฟ้าคือ กฟผ., การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.), การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน ซึ่งจะสามารถออกบิลค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน ได้ทันงวดบิลเดือน พ.ค.นี้อย่างแน่นอน
ส่วนค่าไฟฟ้างวดถัดไปในเดือน ก.ย.-ธ.ค.นี้จะลดลงได้อีกหรือไม่ ขึ้นอยู่กับกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจากบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ว่าจะสามารถส่งมอบให้ กฟผ.เพื่อนำไปผลิตไฟฟ้าเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ จากที่ในช่วงปลายปีนี้จะมีการส่งมอบอยู่ที่ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน เพราะมีความเสี่ยงที่เป็นช่วงฤดูมรสุมจึงมีความเป็นห่วงว่า ปริมาณก๊าซธรรมชาติจะไม่เป็นไป ตามเป้าหมายที่คาดไว้ จากปัจจุบันกำลังการผลิตอยู่ที่ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และในเดือน ก.ค.จะเพิ่มกำลังการผลิตอยู่ที่ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และในช่วงปลายปีนี้จะเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว โดยเฉพาะในสหภาพยุโรป ที่จะมีความต้องการใช้เชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติและก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ที่อาจทำให้ปริมาณการผลิตในตลาดโลกของก๊าซธรรมชาติและแอลเอ็นจีอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการในตลาดโลก
นายคมกฤชกล่าวว่า กรณีที่มีผู้เสนอให้ยกเลิกจัดเก็บค่าเอฟที เรื่องนี้ต้องเข้าใจว่าค่าไฟฟ้าในปัจจุบันแบ่งเป็นค่าไฟฐานและค่าเอฟที โดยค่าไฟฟ้าฐานจะมีการเปลี่ยนแปลงทุกๆ 4 ปีโดยเป็นการนำเงินลงทุนต่างๆมาเป็นฐานการคิดค่าไฟฟ้า แต่ค่าเอฟทีจะนำเอาค่าเชื้อเพลิง หรือปัจจัยอื่นๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หรือมีการสวิงมาคิดซึ่งหากยกเลิกเท่ากับต้องนำปัจจัยนี้ไปบวกล่วงหน้าในค่าไฟฟ้าฐานที่อาจจะแพงขึ้นอย่างมากหรือต่ำลงเกินความเป็นจริง จนทำให้เกิดเป็นปัญหาในอนาคต
“ที่ต้องคิดค่าเอฟทีทุกๆ 4 เดือน เพื่อความเหมาะสมในการคำนวณราคาเชื้อเพลิงเป็นรอบๆ ซึ่งกรณีที่ภาคเอกชนจะขอเปลี่ยนแปลงคิดค่าเอฟที ให้เร็วขึ้นเป็นทุกๆ 2 เดือน ต้องเข้าใจว่าก่อนหน้านี้ มีการคิดค่าเอฟทีทุกๆ 3 เดือน แต่เอกชนเรียกร้องเพื่อให้ขยายเวลา เพราะต้องการนำไปวางแผนส่งออก สินค้า ซึ่ง กกพ.พร้อมรับฟังหากเสนอมาอีกครั้ง”
นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน โฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.ได้เสนอเงื่อนไขขอรับภาระยืดหนี้การชำระค่าไฟฟ้า วงเงินประมาณ 130,000 ล้านบาท ที่รับภาระแทนประชาชนไปก่อนหน้านี้ จากเดิม 2 ปี เป็น 2 ปี 4 เดือน หรือแบ่งเป็น 7 งวด การจัดเก็บค่าเอฟทีคาดว่าจะครบกำหนดชำระประมาณเดือน ส.ค.2568 ทำให้เงินที่ กฟผ.ควรจะได้จากการคืนหนี้ก้อนแรก หายไป 4,000 ล้านบาท จากเดิม 22,000 ล้านบาท เหลือ 18,000 ล้านบาท และมีภาระดอกเบี้ยงวดละ 750 ล้านบาท
ซึ่งการจัดเก็บค่าไฟฟ้า งวดเดือน พ.ค.-ส.ค.นี้ กฟผ.ยังมีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีอยู่ แต่งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.นี้ จะต้องมีการบริหารจัดการ รวมถึงต้องมีการหารือกันกับ กกพ.อีกครั้งหนึ่ง.
คุณกำลังดู: กกพ.ยันคิดค่าไฟ 4.70 บาท ยืนกรานรอบนี้ไม่เปลี่ยนสูตรค่าเอฟที
หมวดหมู่: ข่าวเศรษฐกิจ/ธุรกิจ