กรมเด็กฯ ร่วม 6 กระทรวงเหล็กขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ป้องกันตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

กรมเด็กฯ ร่วม 6 กระทรวงเหล็กขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ป้องกันตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ขณะที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้การลดอัตราคลอดในวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดของเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals, MDGs)

สำหรับประเทศไทย รัฐบาลได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์วัยรุ่น พ.ศ.2559 และ ยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2560-2569 เพื่อบูรณาการการดำเนินงานของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มุ่งผลลัพธ์ให้อัตราการเกิดมีคุณภาพ นำไปสู่การเป็นพลังสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ

จตุพร โรจนพานิช
จตุพร โรจนพานิช

ข้อมูลจาก สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุถึงสถิติการคลอดของแม่วัยรุ่นไทย พบว่า อัตราคลอดมีชีพในหญิงอายุ 10-14 ปี มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยในปี 2564 อัตราคงที่อยู่ที่ 0.9 ต่อพัน ส่วนกลุ่มอายุ 15-19 ปี ก็ลดลงเช่นกัน โดยในปี 2564 ลดลงเหลือ 24.4 ต่อพัน ส่วนจำนวนและร้อยละของการคลอดซ้ำในวัยรุ่นอายุ 15-19 ปีก็มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยในปี 2564 ลดลงเหลือร้อยละ 7.7 ขณะที่สถานการณ์การคุมกำเนิดด้วยวิธีสมัยใหม่ในหญิงอายุน้อยกว่า 20 ปี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ในปี 2560– 2569 กำหนดเป้าหมายในปี 2569 อัตราการคลอดมีชีพของแม่วัยรุ่นจะต้องไม่เกิน 25 : 1,000 จากผลการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง 6 กระทรวง หลัก ทั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ (พม.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงแรงงาน (รง.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.) กำหนดในปีงบประมาณ 2565 อัตราการคลอดมีชีพของแม่วัยรุ่นอยู่ที่ 24.4 : 1,000 ซึ่งเมื่อเทียบกับสถิติที่ผ่านมาถือว่าได้ดำเนินการบรรลุเป้าหมาย

นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) พม. เปิดเผยว่า แม่วัยรุ่นช่วงอายุ 10-19 ปี ที่ลงทะเบียนขอรับสวัสดิการโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดประจำปีงบประมาณ 2563-2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 100,993 คน ที่ผ่านมา ดย.ได้ดำเนินการดูแลช่วยเหลือแม่วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ทั้งก่อนและ/หรือหลังคลอด รวมถึงการส่งต่ออย่างเป็นระบบ จัดสวัสดิการสังคมที่เหมาะสม โดยคํานึงถึงประโยชน์สูงสุดของแม่วัยรุ่นแต่ละราย กรณีก่อนคลอด มีบริการให้คําปรึกษา เช่น การดูแลสุขภาพของแม่วัยรุ่น, การเตรียมความพร้อมร่างกายก่อนคลอด, การประสานส่งต่อหน่วยงานอื่น, การเตรียมพร้อมโครงการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด, กรณีไม่มีที่พักอาศัยก็จะช่วยประสานส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ส่วนหลังคลอดหากเข้าเกณฑ์ครอบครัวรายได้น้อยไม่เกิน 1 แสนบาทต่อคนต่อปี ก็จะได้รับเงินสนับสนุนจากโครงการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด นอกจากนี้ยังจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับเลี้ยงดูเด็ก (Parenting) จัดบริการสังคมด้านต่างๆ การใช้ทีมสหวิชาชีพในการให้ความช่วยเหลือ เป็นต้น โดยในปีงบประมาณ 2565 ดย.ได้ให้ความช่วยเหลือแม่วัยรุ่น ด้วยการจัดอบรมการเลี้ยงดูเด็กจำนวน 5,321 ราย ฝึกอาชีพให้แก่แม่วัยรุ่นและครอบครัว จำนวน 3,652 ราย และฝึกอาชีพร่วมกับ AIS จำนวน 1,669 คน จัดบริการสวัสดิการสังคม 15 ด้าน ให้แก่แม่วัยรุ่น จำนวน 66,093 ราย การทํางานร่วมกับทีมสหวิชาชีพ ในการให้ช่วยเหลือแม่วัยรุ่นอย่างต่อเนื่องเป็นรายกรณี จำนวน 363 ราย

“เชื่อว่ายังมีแม่วัยรุ่นที่ไม่กล้าเปิดเผยตัว หรือยังไม่รู้และเข้าไม่ถึงสวัสดิการของรัฐอีกจำนวนไม่น้อย จึงต้องช่วยกันสื่อสารสร้างความเข้าใจและปรับเปลี่ยนทัศนคติในการแก้ไขและให้โอกาสกับสิ่งที่ผิดพลาดไป โดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครองต้องให้กำลังใจอย่าซ้ำเติม ที่ผ่านมา ดย.ได้ร่วมกับเครือข่ายต่างๆดำเนินมาตรการปกป้องคุ้มครอง โดยเฉพาะการใช้กลไกสภาเด็กและเยาวชนเป็นสื่อกลางในการสื่อสารและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ซึ่งเยาวชนจะเข้าใจและเข้าถึงเยาวชนด้วยกันเองได้ง่ายกว่า เช่น สร้างเครือข่ายเด็กและเยาวชน DJ Teen เพื่อสื่อสารป้องกันและแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นในชุมชน สร้างแกนนำผู้พิทักษ์สิทธิทางเพศในวัยรุ่น ให้ความรู้เรื่องสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ โดยดำเนินการร่วมกับกรมอนามัย ขณะเดียวกันก็มีการอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจการเลี้ยงดูบุตรให้กับแม่วัยรุ่นทั้งก่อนคลอด และหลังคลอด นอกจากนี้ยังให้คำปรึกษาโดยทีมสหวิชาชีพ การช่วยเหลือประสานส่งต่อ และจัดบริการสวัสดิการสังคม สามารถติดต่อได้ที่บ้านพักเด็กและครอบครัว 77 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงศูนย์ช่วยเหลือสังคม พม.1300” อธิบดี ดย. ย้ำถึงช่องทางการดูแลช่วยเหลือแม่วัยใส

นางจตุพร ยังกล่าวด้วยว่า การทำงานในมิติตั้งรับไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จำเป็นต้องทำงานเชิงรุกในการป้องกันปัญหา รวมถึงเมื่อเกิดปัญหาแล้วก็ต้องเร่งแก้ไขอย่างรอบด้าน ดย.จึงได้ร่วมกับกรมอนามัย กรมสุขภาพจิตดูแลทั้งมิติสุขภาพกายและสุขภาพใจ ขณะที่มิติด้านการศึกษาก็ทำงานร่วมกับ ศธ.และ อว. ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ก.พ.2566 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่กฎกระทรวง ห้ามสถานศึกษาไล่ออกนักเรียน-นักศึกษาที่กำลังตั้งครรภ์ เว้นแต่ย้ายสถานศึกษาตามความประสงค์ของนักเรียน-นักศึกษา

ทีมข่าวการพัฒนาสังคม เห็นด้วยอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาแม่วัยใสในทุกมิติอย่างรอบด้าน เพราะเรื่องของเด็กและเยาวชนไม่ใช่เป็นภาระหน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง

ที่สำคัญเหนืออื่นใดคือ ครอบครัว สถาบันที่ใกล้ชิดตัวเด็กและเยาวชนมากที่สุด ต้องปรับทัศนคติเปิดใจพูดคุยเรื่องเพศกับบุตรหลานเพื่อป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียน รวมไปถึงการเข้าใจและเป็นที่พึ่งได้ในทุกสถานการณ์

โดยเฉพาะการเป็นเกราะป้องกัน “แม่วัยใส” ถูกบูลลี่ในเชิงลบจากคนรอบข้างและสังคม หรือถูกบีบคั้นจนต้องออกจากระบบการศึกษา

เพราะนั่นคือชนวนที่อาจนำมาซึ่งปัญหาสังคมอื่นๆตามมาในที่สุด.

ทีมข่าวการพัฒนาสังคม

คุณกำลังดู: กรมเด็กฯ ร่วม 6 กระทรวงเหล็กขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ป้องกันตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

หมวดหมู่: ภูมิภาค

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด