เลือกตั้ง 2566 : "ชุมสาย" ซัด "นักร้อง-นักวิชาเกิน" ใช้อคติ มั่วยุบ พท.
"ชุมสาย ศรียาภัย" รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ชี้ "นักร้อง-นักวิชาเกิน" ใช้อคติ มั่วเหตุยุบพรรค ป้อง "ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ" เป็นผู้ช่วยหาเสียงได้ตามกฎหมาย เหตุเคยต้องคำพิพากษาคดีอาญาเท่านั้น

"ชุมสาย ศรียาภัย" รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ชี้ "นักร้อง-นักวิชาเกิน" ใช้อคติ มั่วเหตุยุบพรรคป้อง "ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ" เป็นผู้ช่วยหาเสียงได้ตามกฎหมาย เหตุเคยต้องคำพิพากษาคดีอาญาเท่านั้น ไม่ใช่ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง
วันที่ 13 มี.ค. นายชุมสาย ศรียาภัย รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่า มีผู้ไปร้อง กกต.ให้ยุบ พรรคเพื่อไทย และมีผู้อ้างว่า เป็นนักกฎหมายมหาชนออกมาให้ความเห็นว่า การขึ้นเวทีปราศรัยของ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย เข้าข่ายเป็นเหตุยุบพรรคตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองมาตรา 29 นั้น ตนเห็นว่า เมื่อนำข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน และระเบียบข้อกฎหมายมาพิจารณาจะทราบว่า นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เคยต้องคำพิพากษาคดีอาญาทั่วไป ทำให้ขาดคุณสมบัติการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (7) เท่านั้น แต่ นายณัฐวุฒิ ไม่ได้ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง และศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ดังนั้น สิทธิเลือกตั้งของ นายณัฐวุฒิ ยังคงมีอยู่ จึงเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้รับการว่าจ้างจากผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ให้เข้าร่วมกิจกรรมในการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งได้ตามข้อที่ 4 ของระเบียบ กกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียง พ.ศ.2561 ซึ่งแม้ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ก็สามารถเป็นผู้ช่วยหาเสียงได้ตามระเบียบนี้
นอกจากนี้ ตำแหน่งผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย ก็ไม่มีบทกฎหมายห้ามและไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือมีความผิดใดๆ ตามกฎหมายเลือกตั้ง นายณัฐวุฒิ จึงสามารถดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้ ประกอบกับพรรคเพื่อไทย มีคณะกรรมการบริหารพรรค และตนก็เป็นกรรมการบริหารพรรค ซึ่งที่ผ่านมา พรรคไม่ได้ยินยอมให้ใครที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคทำการควบคุม ครอบงำ ชี้นำ หรือมีผู้ใดที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคกระทำการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำพรรค ในลักษณะที่ทำให้พรรคหรือสมาชิกขาดความอิสระทั้งทางตรงและทางอ้อมได้ คณะกรรมการบริหารพรรค มีการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองทุกมิติได้โดยอิสระ ดังนั้นข้อร้องเรียนของผู้ที่ส่งไปยัง กกต.และความเห็นทางกฎหมายที่บอกว่า การทำกิจกรรมของ นายณัฐวุฒิ เข้าข่ายเป็นเหตุยุบพรรคได้ ล้วนไม่เป็นความจริง และผิดไปจากข้อเท็จจริง ระเบียบและกฎหมาย ทำให้ประชาชนสับสนเข้าใจผิด
นายชุมสาย กล่าวอีกว่า พรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมือง ซึ่งแสดงออกถึงเจตจำนงร่วมของประชาชน โดยหลักแล้วความผิดเล็กน้อยของสมาชิกพรรคบางรายไม่ควรมีโทษถึงขั้นยุบพรรคทั้งพรรค ส่วนตัวไม่เคยเห็นด้วยกับการยุบพรรคด้วยสาเหตุทำนองนี้ เพราะเป็นการทำลายสถาบันทางการเมือง และบั่นทอนเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศ เว้นแต่มีข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า พรรคการเมืองมีการกระทำอันเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างชัดแจ้ง จึงมีน้ำหนักพอที่จะยุบพรรคได้
"ผมเข้าใจว่า ผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้ ต้องการเพียงทำเป็นข่าวเท่านั้น เชื่อว่ามีอคติต่อพรรคเพื่อไทย เท่าที่ตนทราบสมาชิกพรรคไม่ได้ตื่นเต้นตกใจอะไร กับนักร้องหรือผู้ที่ให้ความเห็นผ่านสื่อต่างๆ การยุบพรรคไม่ใช่เรื่องสนุก ศาลรัฐธรรมนูญเองก็คงต้องพิจารณาปัจจัยรอบด้าน ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย พยานหลักฐานที่มี พฤติการณ์ทั้งปวง และเจตนาของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยใช้ตรรกะทั้งนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์
ซึ่งล่าสุดประธาน กกต.ก็ออกมายืนยันชัดว่า การจะยุบหรือไม่ยุบพรรคเป็นเรื่องของดุลยพินิจอิสระของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น เป็นการตอกย้ำว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ยึดข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเป็นหลัก ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการกระทำและคำพูดของใคร หรือแม้กระทั่งอำนาจหน้าที่ของ กกต.ตามระเบียบและกฎหมายแต่อย่างใด กกต.เป็นแต่เพียงผู้มีอำนาจหน้าที่เสนอเรื่องเท่านั้น จึงขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจว่า พรรคเพื่อไทย ไม่ได้กระทำการใดผิดกฎหมายที่เป็นเหตุยุบพรรคได้ และพร้อมจะกลับมาเป็นรัฐบาล เพื่อพี่น้องประชาชนในครั้งต่อไป” นายชุมสาย กล่าว.
คุณกำลังดู: เลือกตั้ง 2566 : "ชุมสาย" ซัด "นักร้อง-นักวิชาเกิน" ใช้อคติ มั่วยุบ พท.
หมวดหมู่: การเมือง
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- “ธนกร” ฟาดกลับ “เศรษฐา” ถามหาความมั่งคั่ง เพื่อประชาชน หรือเพื่อใคร
- "บิ๊กตู่" เหน็บ 3 นิ้ว อีก 2 นิ้วหาย ไล่ไปหาหมอ ไม่โกรธใคร คนไทยด้วยกัน
- เลือกตั้ง 2566 : หญิงโผล่ ชู 3 นิ้ว ขบวน "ลุงตู่" ตร.สกัดออกนอกพื้นที่
- เลือกตั้ง 2566 : เพื่อไทย เปิดตัว ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เพิ่มอีก 11 คน
- "อนุทิน" บอก "ภูมิใจไทย" รู้แล้วได้ ส.ส.กี่ที่นั่ง ไม่สน โพลคนอุดรฯ
- เลือกตั้ง 2566 : "พิธา" เปิดตัวผู้สมัคร กทม.33 เขต เจอป่วนนโยบาย "ใกล้กาว"