เมื่อเทคโนโลยีกลายเป็น “ดาบสองคม” ของการประท้วงในเอเชีย
แม้การเคลื่อนไหวผ่านสื่อโซเชียลมีเดียจะประสบความสำเร็จ แต่รัฐบาลในหลายประเทศก็สามารถใช้มันในการเซนเซอร์และใช้เทคนิคในการสอดแนม เพื่อทำลายการประท้วง

- แม้การประท้วงต่อต้านรัฐบาลทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นถึงจุดสูงสุดในปี 2022 อย่างไรก็ตามปีที่แล้วก็เป็นปีที่การประท้วงประสบความสำเร็จน้อยที่สุด โดยมีเปอร์เซ็นต์การเคลื่อนไหวซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบาย หรือผู้นำ ในทันทีที่ต่ำที่สุด
- แม้การเคลื่อนไหวผ่านสื่อโซเชียลมีเดียจะประสบความสำเร็จ แต่รัฐบาลเผด็จการในหลายประเทศก็สามารถใช้มันเพื่อเซนเซอร์และใช้เทคนิคในการสอดแนมเพื่อทำลายการประท้วง ในฐานะ "เผด็จการทางดิจิทัล"
- นักวิชาการชี้ว่า แม้การประท้วงที่ล้มเหลว แต่ก็สามารถวางรากฐานสำหรับการประท้วงในอนาคตได้ ซึ่งไม่เพียงแต่ปลูกฝังแนวคิดที่ว่าพลังคนสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ แต่ยังสามารถฝึกฝนให้เกิดสิ่งที่ยิ่งใหญ่และประสบความสำเร็จมากขึ้นในอนาคตอีกด้วย
เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ชาวจีนจำนวนมากต่างรู้สึกสะเทือนใจต่อข่าวไฟไหม้อพาร์ตเมนต์ที่มีผู้เสียชีวิต หลังจากมาตรการปิดเมืองเกือบ 3 ปีที่เข้มงวดเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 เหตุการณ์ดังกล่าวก็สร้างความเดือดดาลอย่างมากเช่นกัน
เสียงเรียกร้องให้จัดกิจกรรมการจุดเทียนไว้อาลัย เริ่มแพร่กระจายอย่างรวดเร็วทั่วทั้งสื่อโซเชียลมีเดียและแอปรับส่งข้อความของจีน ประชาชนจำนวนมากตอบรับการเข้าร่วมกิจกรรมทุกคนชูกระดาษเปล่า ตะโกนคำขวัญประณามผู้นำและเปลี่ยนการไว้อาลัยให้เป็นการประท้วงครั้งใหญ่
"การประท้วงกระดาษขาว" ของจีน ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นภูมิภาคเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นศรีลังกา หรือไทย โดยในช่วงไม่กี่ปีมานี้เอเชียได้เกิดการประท้วงที่ปะทุขึ้นอย่างไม่มีสาเหตุ บางส่วนก็เริ่มอ่อนกำลังเมื่อสูญเสียแรงกระตุ้น ส่วนในบางที่ก็เงียบลงหลังจากการปราบปรามอย่างรวดเร็ว ส่วนในเมียนมาการต่อต้านยังคงดำเนินต่อไปแม้จะเข้าสู่สงครามกลางเมือง

นักวิชาการชี้ให้เห็นถึงปรากฏการณ์ที่ใหญ่ขึ้นทั่วโลก เมื่อการประท้วงจำนวนมากกลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันการประท้วงก็มีแนวโน้มที่จะล้มเหลวด้วย และยิ่งไปกว่านั้นเครื่องมือที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการประท้วงเหล่านี้ ซึ่งก็คือเทคโนโลยีก็ถือเป็นอุปสรรคสำคัญเช่นกัน
ข้อมูลที่รวบรวมโดยสถาบัน Carnegie Endowment for International Peace ตั้งแต่ปี 2017 แสดงให้เห็นว่าการประท้วงต่อต้านรัฐบาลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก โดยถึงจุดสูงสุดในปี 2022 อย่างไรก็ตาม สถาบันฯ ระบุว่า ปีที่แล้วก็เป็นปีที่การประท้วงประสบความสำเร็จน้อยที่สุด โดยมีเปอร์เซ็นต์การเคลื่อนไหวที่ต่ำที่สุด ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือผู้นำในทันที
ด้านนักวิชาการที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ติดตามการเดินขบวนและการต่อต้านของพลเรือนมาตั้งแต่ปี 2443 ซึ่งนับรวมถึงการเคลื่อนไหวในระดับสูงสุด ที่ไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่มีเป้าหมายเพื่อโค่นล้มรัฐบาล ขับไล่รัฐบาลทหารที่ยึดครองประเทศ หรือกดดันให้ออกจากตำแหน่ง โดยพบว่ามีการเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา แต่ก็มีอัตราความสำเร็จลดลงพร้อมกันด้วย
ทฤษฎีหนึ่งที่ทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นคือการเพิ่มขึ้นของโซเชียลมีเดียและแอปส่งข้อความ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ในอดีต การประท้วงจะจัดผ่านเครือข่ายชุมชนที่สร้างขึ้นจากการเคลื่อนไหวมานานหลายปี ซึ่งทำให้ยากที่จะกำจัดออกไป แต่ด้วยการเชื่อมต่อที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้การระดมคนอย่างเป็นธรรมชาติเป็นไปอย่างง่ายดาย และยังสามารถติดตามคนเหล่านี้ได้อีกด้วย
Ho-fung Hung ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ที่เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองและการประท้วง กล่าวว่า "ปัจเจกชนจำเป็นต้องเข้าใจว่าความคับข้องใจของพวกเขานั้นไม่ใช่เรื่องของปัจเจกชน แต่เป็นการที่คนอื่นแบ่งปันความรู้สึกของพวกเขาและมีความรู้สึกของความเป็นชุมชน ดังนั้นพวกเขาจึงระดมกำลัง แต่ถ้าคุณพึ่งพาสื่อสังคมออนไลน์มากเกินไปในการจัดระเบียบ ระบอบเผด็จการก็สามารถใช้มันเพื่อเซนเซอร์และใช้เทคนิคในการสอดแนม ทำให้เรื่องทั้งหมดสามารถปิดลงได้ค่อนข้างง่าย"
รัฐบาลกำลังพึ่งพามากเทคโนโลยีมากขึ้น เช่นเดียวกับสิ่งที่ศาสตราจารย์เอริกา ชิโนเวธ หนึ่งในนักวิชาการที่อยู่เบื้องหลังการศึกษาของฮาร์วาร์ด เรียกว่า "เผด็จการทางดิจิทัล" และเป็นมากกว่าแค่การเฝ้าระวัง
โดยระหว่างการประท้วงต่อต้านรัฐประหารในเมียนมาในปี 2564 ทางการปิดอินเทอร์เน็ตทั้งหมดเพื่อตัดไม่ให้ผู้ชุมนุมสื่อสารกัน

ส่วนในฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่ ตำรวจพยายามติดตามผู้ประท้วงด้วยการค้นหาโทรศัพท์และแอปส่งข้อความที่เข้ารหัส เมื่อเร็วๆ นี้นักเคลื่อนไหวชาวจีนกล่าวว่าพวกเขาได้รับการติดต่อจากผู้ใช้บัญชีสื่อสังคมออนไลน์ปลอมที่สวมรอยเป็นนักข่าว สร้างความหวาดกลัวว่านี่เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทางการจะรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพวกเขา
อีกกลยุทธ์หนึ่งคือการตอบโต้การโจมตีของผู้ประท้วงเพื่อดิสเครดิตพวกเขา และความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวของพวกเขา สิ่งนี้มักปรากฏบนโซเชียลมีเดียซึ่งข้อมูลที่บิดเบือนสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ขับเคลื่อนโดยแคมเปญหลอกลวงและการป้ายสีที่ประสานงานกันเป็นอย่างดี
การกล่าวโทษ "กองกำลังต่างชาติ" ที่ปลุกระดมผู้ประท้วงก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งเห็นได้จากการตอบโต้ของทางการอินเดียต่อการเดินขบวนของชาวนาในปี 2563 และการละเว้นการนำเสนอข่าวในสื่อของรัฐบาลจีน ที่บล็อกเกอร์กลุ่มชาตินิยมสะท้อนให้เห็นในโลกออนไลน์
ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า อำนาจนิยมทางดิจิทัลก็เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ วิธีที่รัฐบาลใช้ในการยุติการเคลื่อนไหวประท้วง ส่วนวิธีการอื่นๆ ได้แก่ การลอบเร้นหรือการปราบปรามล่วงหน้า การสร้างการสนับสนุนภายใน เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มผู้ที่ไม่พอใจ ซึ่งอยู่ในกลุ่มที่มีการจัดตั้งขึ้น เข้าร่วมกับผู้ประท้วง และใช้อำนาจฉุกเฉินช่วงโควิดระบาดในการปราบปรามผู้เห็นต่าง
ด้วยระบอบประชาธิปไตยที่ถูกลดความสำคัญลงโดยเฉพาะในเอเชีย รัฐบาลเผด็จการสามารถหลีกเลี่ยงสิ่งนี้ได้มากขึ้น แม้จะมีการวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติ ศ.ฮุง กล่าวว่า "ตอนนี้มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของระบอบเผด็จการ พวกเขาสนับสนุนซึ่งกันและกัน พวกเขาปราบปรามอย่างหนัก และเมื่อมีการลงโทษระหว่างประเทศกับพวกเขา พวกเขาก็สามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้"
บ่มเพาะมรดก
แต่จะเป็นอย่างไรหากมีวิธีคิดมากกว่าหนึ่งวิธีเกี่ยวกับความสำเร็จของการประท้วง
ไดอานา ฟู รองศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโตรอนโต กล่าวว่า การพาผู้คนจำนวนมากออกมาตามท้องถนนถือเป็นความสำเร็จอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเผด็จการที่ประชาชนเลิกยุ่งเกี่ยวกับการเมือง
ตัวอย่างเช่น การประท้วงกระดาษสีขาว ถือเป็นการตื่นตัวทางการเมือง "เท่าที่ประชาชนชาวจีนจำนวนมากกล้าที่จะพูดว่า 'ไม่' กับรัฐบาลของพวกเขาเป็นครั้งแรกในชีวิต การประท้วงถือเป็นจุดเปลี่ยนจากการปฏิบัติตามไปสู่การไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่คนรุ่นใหม่" พร้อมเสริมว่าการประท้วงดังกล่าวกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ยกเลิกข้อจำกัดโควิด
ด้วยเหตุนี้นักเคลื่อนไหวชาวจีนบางคนจึงมองว่าการประท้วงจะประสบความสำเร็จในท้ายที่สุด แม้ว่าจะมีการปราบปรามก็ตาม
โฆษกของกลุ่ม CitizensDailyCN กล่าวว่า "พวกเราไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าในปัจจุบันจะมีการต่อต้านเช่นนี้ในจีน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการประท้วงทำให้กบฏที่ "ปิดตัว" หลายคนตระหนักว่ามีคนจำนวนมากที่เดินทางในเส้นทางเดียวกัน และพวกเขาไม่ได้อยู่เพียงลำพัง"
พวกเขายังชี้ให้เห็นถึงการประท้วงอื่นๆ ที่ปะทุขึ้นในจีนตั้งแต่การประท้วงกระดาษขาว โดยกล่าวว่า "หากการประท้วงกระดาษสีขาวไม่เกิดขึ้นก่อน การประท้วงอื่นๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น หรือจะไม่ดึงดูดความสนใจในระดับเดียวกัน"
บางคนแย้งว่าความสำเร็จของการประท้วงไม่ได้วัดเพียงแค่ว่าบรรลุเป้าหมายในทันทีหรือไม่ แต่ยังวัดผลกระทบในระยะยาวด้วย
การประท้วงแม้จะเรียกว่าการประท้วงที่ล้มเหลว แต่ก็สามารถวางรากฐานสำหรับการประท้วงในอนาคตได้ พวกเขาไม่เพียงแต่ปลูกฝังแนวคิดที่ว่าพลังคนสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ แต่ยังสามารถฝึกฝนให้เกิดสิ่งที่ยิ่งใหญ่และประสบความสำเร็จมากขึ้นในอนาคตอีกด้วย
เจฟฟ์ วาสเซอร์สตรอม ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เออร์ไวน์ กล่าวว่า "เมื่อคุณมีนักดนตรีที่เคยเล่นด้วยกัน ครั้งต่อไปที่พวกเขารวมตัวกัน พวกเขาสามารถเล่นด้วยกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น"
เขาตั้งข้อสังเกตว่า ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมส่วนใหญ่ "ได้รับความสนใจเพียงเล็กน้อย" ก่อนที่มันจะมอดดับไป "แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าไม่มีอะไรเหลือให้ผู้คนสร้างต่อ แม้แต่การเคลื่อนไหวที่ล้มเหลวก็สามารถมีมรดกตกทอดในแง่ของการสร้างต้นแบบและแนวทาง"
กลุ่มพันธมิตรชานม ซึ่งเป็นกลุ่มแนวร่วมที่มีการรวมตัวหลวมๆ ของผู้ประท้วงเพื่อประชาธิปไตยทั่วเอเชีย ถือเป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง
กลวิธีบางอย่างของผู้ประท้วงฮ่องกงในปี 2562 เช่น สัญญาณมือ แฟลชม็อบ การใช้ร่มและกรวยจราจรเพื่อต่อสู้กับแก๊สน้ำตา ถูกนำมาใช้ในภายหลังโดยผู้ประท้วงในไทยและศรีลังกา มันแสดงให้เห็นว่าในขณะที่ระบอบเผด็จการสร้างพันธมิตรได้อย่างไร ผู้ประท้วงจากประเทศต่างๆ และขบวนการทางสังคมก็สามารถประสานความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันได้

ศ.วาสเซอร์สตรอม ตั้งข้อสังเกตว่า การใช้คำขวัญต่อต้านรัฐบาลและต่อต้าน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ซึ่งเกิดขึ้นจากกรณีการที่ชายคนหนึ่งติดป้ายข้อความขนาดใหญ่เพื่อประท้วงต่อต้านประธานาธิบดีสี และนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของรัฐบาลจีน บนสะพานซื่อทงในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 13 ตุลาคมปีที่แล้ว ได้กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งในการประท้วงกระดาษสีขาวในหลายสัปดาห์ต่อมา คำขวัญและแนวคิดเหล่านี้จำนวนมาก "คงอยู่" โดยชาวจีนโพ้นทะเล ซึ่งยังคงใช้คำขวัญและแนวคิดเหล่านี้ซ้ำทางออนไลน์และในการประท้วงในต่างประเทศ
กลุ่ม CitizensDailyCN มีส่วนสำคัญในเรื่องนี้ โดยการใช้ประโยชน์จากสื่อสังคมออนไลน์ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางข้อมูลโดยเผยแพร่รายละเอียดการประท้วงและมีมทางการเมือง จนกลายเป็นผู้เล่นหลักในการแสดงความต่างต่อรัฐบาลจีนทางออนไลน์
ตัวแทนของกลุ่มซึ่งไม่ประสงค์ออกนามเพื่อความปลอดภัยกล่าวว่า "ขบวนการกระดาษสีขาวได้ยุติลงแล้ว แต่การต่อต้านยังไม่สิ้นสุด"
"สถานการณ์ในอุดมคติคือ เสียงแห่งกบฏยังคงดังสะท้อนภายในประเทศ เป็นผู้นำการต่อต้าน และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในต่างประเทศยังคงรักษาความกระตือรือร้นไว้ แต่ในขั้นตอนนี้ เราได้แต่รอโอกาสต่อไปเท่านั้น เราคิดว่าจะมีโอกาสในครั้งต่อไป"
"การก่อจลาจลครั้งต่อไปอาจไม่เรียกว่า"ชายบนสะพาน" หรือ "การประท้วงกระดาษขาว" แต่จะมีสัญลักษณ์ใหม่".
คุณกำลังดู: เมื่อเทคโนโลยีกลายเป็น “ดาบสองคม” ของการประท้วงในเอเชีย
หมวดหมู่: ต่างประเทศ
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- ฮ่องกงจับ 2 ฉีดน้ำใส่ตำรวจ เชื่อใช้สงกรานต์บังหน้า ก่อกวนเจ้าหน้าที่
- นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยไมอามี สหรัฐฯ ชี้โควิดแพร่สู่ทารก
- กรมการแพทย์คาดฉีดวัคซีนป้องกันโควิดปีละ 1 ครั้ง
- วัคซีนยังจำเป็น "กลุ่มเสี่ยง" ควรฉีดเข็มกระตุ้นอีกครั้ง ก่อนเข้าสู่ฤดูฝน
- ก่อนสายเกินไป จีนบังคับใช้กฎหมาย คุ้มครองดูแล 'แม่น้ำเหลือง' แล้ว
- ปลัด สธ.เผยยังไม่พบโควิด XBB.1.16 จากอินเดีย