มุมมองเกือบ 1 ปี กับชีวิตผู้ว่าฯ ชัชชาติ ผู้นำต้องฟังคำติ ไม่ใช่ฟังแต่คำชม(คลิป)
“ชัชชาติ” ชี้ ฝุ่น PM 2.5 หน่วยงานเดียวแก้ไม่ได้ จัดระเบียบทางเท้า อาจกระทบหลายชีวิต คือสิ่งที่ทุกข์ของผู้ว่าฯ เกือบปีกับการเข้ามาดำรงตำแหน่ง ผู้นำไม่ควรฟังแค่คำชม เพราะคำติก็เป็นเรื่องที่ดี

- ชีวิตผู้ว่าฯ กทม. 9 เดือนเต็ม ยังตื่นเช้ามาออกกำลังกาย ทุกงานหนักหมด ปัญหาใหญ่สุดไม่ใช่แค่น้ำท่วม และฝุ่น PM 2.5 แต่ปัญหาระยะยาวที่ใหญ่จริงๆ คือ เรื่องการศึกษา ที่หากไม่แก้ ความเหลื่อมล้ำในอนาคตจะมากกว่าปัจจุบัน
- การไลฟ์สด บางทีถ้าอยู่แต่บนห้องมันมองไม่เห็นปัญหา เราลงไปไม่ได้อยากไปสร้างภาพ แต่ผู้ว่าฯ ลง ผู้บริหารก็ต้องลงไปดูปัญหา ถ้าเราไม่ลงไปก็ไม่เห็นหรอก
- ผู้นำหลายๆ คน ที่อาจจะมีปัญหา เพราะว่าฟังแต่คำชม พอฟังคำชมปุ๊บ มันไม่ได้ปรับปรุงตัวเอง ผมว่าคำติเป็นเรื่องที่ดี และผมว่าเราก็พยายามฟังและให้ทีมงานอ่าน แล้วกรอง เรื่องที่เราจะปรับปรุงได้ขึ้นมา

เปิดใจงานไหนของผู้ว่าฯ ที่ทำมาแล้วหนักสุด
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเปิดใจกับไทยรัฐออนไลน์ ถึงชีวิตหลังจากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. มาตลอด 9 เดือน ว่า ชีวิตตอนนี้ก็เหมือนเดิม ตื่นเช้ามาก็ออกกำลังกาย ก็คล้ายๆ เดิม แต่ตอนนี้ลงตัวมากขึ้น โดยเฉพาะในเนื้องาน เพราะแรกๆ ต้องทำความรู้จักหน่วยงาน ส่วนรูปแบบการทำงานก็ไม่ได้แตกต่างก็ทำเต็มที่ทุกวัน
“จริงๆ แล้ว งานกทม. มันหนักหมด เพราะมีหลายด้านที่แตกต่างกัน เข้ามาก็เจอน้ำท่วมเลย ก็ลุยเต็มที่ อย่างตอนนี้ก็เรื่องฝุ่น บางเรื่องที่เราไม่เห็นคือเรื่องการศึกษา เรื่องสาธารณสุข อย่างที่บอก กทม. มีปัญหาหลายด้าน จริงๆ แล้วสิ่งที่เห็นอยู่อาจจะไม่ใช่ปัญหาที่ใหญ่สุดก็ได้ เรื่องน้ำท่วมอาจจะเป็นปัญหาใหญ่ แต่ระยะยาวคือการศึกษา ถ้าทำไม่ดี เด็ก คุณภาพการเรียนรู้ไม่ดี อนาคตความเหลื่อมล้ำจะมากกว่านี้ อย่างเรื่องสาธารณสุขที่คนไม่ค่อยเห็น เพราะไปเน้นเรื่องน้ำท่วม ขยะ แต่เรื่องสาธารณสุขก็เป็นหัวใจอีกเรื่องหนึ่งที่เราต้องดูแลปฐมภูมิ เรื่องพวกนี้แหละคือเรื่องหนักๆ” นายชัชชาติ กล่าว

งานไหนที่คิดว่าทำแล้วสนุกที่สุด
จริงๆ แล้ว ผมชอบพบเจอผู้คน นั่นคือหัวใจ ที่ลงไปดู แล้วรับฟังเขา อีกอันหนึ่งที่สนุกคือ Traffy Fondue ที่รับแจ้งเหตุแล้วร้องเรียนเข้ามา ผมขอถามคุณว่า 9 เดือนที่ผมเข้ามา มีคนร้องเรียนไปแล้วกี่เรื่อง (มากกว่า 100,000 เรื่องไหมคะ) 240,000 เรื่อง ถามว่าเราแก้ไปกี่เรื่อง 170,000 เรื่อง แต่เราส่งต่อประมาณ 50,000 เรื่อง ที่ไม่ได้เกี่ยวกับเราโดยตรง เช่น เรื่องทางหลวง การประปา ที่กำลังรอดำเนินการอยู่ประมาณ 6,000 เรื่อง แล้วก็รอรับเรื่องอยู่ประมาณ 1,000 เรื่อง คนร้องเรียนมากที่สุดคือเรื่องไฟดับ ถนน ทางเดินเท้า ที่ต้องไล่แก้ไปเช่นเดียวกัน
“เราลงไปเราฟังปัญหาได้แค่ไม่กี่คนต่อวัน พอมีแอปฯ ก็เปลี่ยน ตัวแอปฯ เองก็เปลี่ยนวิธีคิดด้วยนะ แต่ก่อนเจ้าหน้าที่จะเน้นผู้ว่าฯ เป็นหลัก เราบอกไม่ต้องหรอก หันหลังให้ผู้ว่าฯ หันหน้าให้ประชาชน พอเอา Traffy Fondue แต่ละเขตต้องฟังประชาชนมากขึ้นว่าเขาต้องการอะไร ข้อดีคือโลกรู้ ทุกคนรู้ว่าเรื่องที่ร้องเรียนมาใช้เวลากี่วันในการแก้ ใครรับผิดชอบ เรื่องค้างอยู่ที่ใคร แล้วมันก็โปร่งใสมาก อันนี้ก็เป็นความสุขของผู้ว่าฯ และสนุก ที่เจ้าหน้าที่ร่วมมือด้วย ทำให้เรามีกำลังใจในการทำงานต่อ” นายชัชชาติ กล่าว

เป็นผู้นำอย่าฟังแต่คำชม คำติก็เป็นเรื่องที่ดี
เราต้องเป็นผู้ว่าฯ สำหรับทุกคน ไม่ใช่เป็นเฉพาะคนที่เลือกหรือชอบเรา เราต้องดูแลทุกคนเท่าเทียมกัน “ถ้ามีแต่คนชมเรา เราเจ๊งแน่ ถ้ามีคนติเรา เราต้องมาดู” บางเรื่องก็จริง ทำให้เราปรับปรุงตัว ถ้าเราทำใจสบายๆ รับฟัง ไม่อคติ อะไรที่ปรับปรุงได้เราก็ปรับปรุง อย่าไปคิดในแง่ไม่ดี ถือเป็นเรื่องมีประโยชน์ เป็นกระจกที่สะท้อนเรา พอเราแก้ปัญหาได้ดี ทุกอย่างดีขึ้น เรื่องนี้เขาก็หยุดด่า แล้วไปด่าเรื่องอื่นต่อ ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องชี้แจง มีคนพูดว่า เนี่ย เลือกผมมานะ อะไรอย่างนี้ ผมบอกจริงๆ แล้ว เลือกหรือไม่เลือกไม่ได้สำคัญนะ เราดูแลทุกคนเหมือนกันหมด ถึงแม้คุณจะไม่ได้เลือกผมเข้ามา แต่ถ้าต้องการให้ทำอะไรบอกมาได้เลย เราต้องดูแลทุกคน ต้องดูทั้งคนที่เลือก และไม่เลือก คนที่เกลียดไม่เกลียด คนที่โหวตให้เราจากไทยรัฐ โหวตหรือไม่โหวตก็ต้องดูแลเหมือนกัน ผมว่าก็ขอบคุณนะ
“ผมว่าผู้นำหลายๆ คน ที่อาจจะมีปัญหา เพราะว่าฟังแต่คำชม พอฟังคำชมปุ๊บเนี่ย มันไม่ได้ปรับปรุงตัวเอง ผมว่าคำติเป็นเรื่องที่ดี และผมว่าเราก็พยายามฟังและให้ทีมงานอ่าน แล้วกรอง เรื่องที่เราจะปรับปรุงได้ขึ้นมาครับ”นายชัชชาติ กล่าว

ไลฟ์สดไม่ได้สร้างภาพ แต่ต้องการลงไปดูปัญหา
ที่ผมเชื่ออีกอย่างคือ ถ้าเป็นผู้นำต้องทำเป็นตัวอย่าง อย่างการไลฟ์สด บางทีถ้าอยู่แต่บนห้องมันมองไม่เห็นปัญหา เราลงไปไม่ได้อยากไปสร้างภาพ แต่ผู้ว่าฯ ลง ผู้บริหารก็ต้องลงไปดูปัญหา ถ้าเราไม่ลงไปก็ไม่เห็นหรอก อย่างน้ำท่วม บางทีนาทีนั้นเขาแค่ต้องการกระสอบทรายให้เดินกลับบ้านได้ การลงไปเห็นปัญหามันทำให้เราวางแผนแก้ปัญหาระยะยาวได้ดีขึ้น มันก็เป็นความสุขเราด้วยที่ได้เจอชาวบ้าน ให้เขาด่าบ้าง ชมบ้าง แล้วแต่ คีย์อย่างหนึ่งคือต้องเข้าใจความรู้สึกของคนเป็นอย่างไร การไปร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเขา ทำให้เราเข้าใจและออกแบบนโยบายได้สอดคล้องกับความต้องการของคนได้ดีที่สุด

ความทุกข์ของผู้ว่าฯLife view กับ Work view ไม่สอดคล้องกัน
เขาบอกว่าความทุกข์อันหนึ่งของการเป็นผู้ว่าฯ นะ ทำไมเราไม่มีความสุขในการทำงาน รู้ไหม คนเราจะมี Life view กับ Work view คือมุมมองของชีวิตกับมุมมองของงาน บางทีมุมมองชีวิตเป็นคนที่ชอบสิ่งแวดล้อม นั่นคือ Life view แต่ต้องมาทำงานทำลายสิ่งแวดล้อม พอLife view กับ Work view มันไม่สอดคล้องกัน มันก็จะอึดอัด แต่บางทีมันก็เป็นชีวิต ก็ต้องทำงานไป มันเลยไม่มีความสุข
เราคิดว่าการเป็นผู้ว่าฯ ทำให้ชีวิตคนมีความสุขขึ้น ทำไมถึงอยากเป็นผู้ว่าฯ เพราะอยากให้ชีวิตเขาดีขึ้น ลูกเขามีโรงเรียนดี อย่างน้อยนิดนึงก็ยังดี เราอยากจะช่วยคน แต่พอมา Work view งานผู้ว่าฯ บางทีมันก็ต้องไปกระทบคน หมายถึงคนที่อยู่ริมคลอง บางทีทำเขื่อนก็ต้องไปกระทบคนอยู่ริมคลอง เขาอาจจะต้องถูกย้าย หรืออย่างหาบเร่แผงลอย เราจะจัดระเบียบสังคม ให้คนเดินได้ แม่ค้าก็อาจจะไม่ได้ขายสะดวกปกติ บางคนอาจจะเลิกขายไปเลย มันก็ทำให้ไปกระทบชีวิตเขาเหมือนกัน

“แทนที่เขาจะมีชีวิตที่ดีขึ้น กลับเป็นว่าเขาอาจจะมีชีวิตที่แย่ลง เพราะที่เราทำก็ได้ อันนี้เป็นตัวหนึ่งที่ขัดแย้งกันนิดหหน่อย เราก็จะมีความทุกข์เรื่องนี้ เรามาเพื่อจุดมุ่งหมายทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น แต่บางคนเองจากนโยบายมันต้องโดนกระทบบ้าง แต่พยายามจะไม่โหดร้าย พยายามบาลานซ์” นายชัชชาติ กล่าว
แต่มันก็จะมีบางคน ห้ามอยู่บนทางเท้า ต้องไล่ให้หมด แต่พอมาดูอีกมิติหนึ่ง ชีวิตมันไม่ได้ง่ายหรอก มีครอบครัวที่ต้องดูแล ถ้าเราไปไล่หมดเลยไม่ให้เหลือ ทางเท้าต้องสะอาดกริบ อันนั้นมันก็จะมีคนได้รับผลกระทบเยอะ ผมว่าสังคมเราเองยังไม่ได้มีสวัสดิการเพียงพอที่จะดูแลทุกคน อาจจะต้องหาจุดที่มันพออยู่กันได้

เรื่องฝุ่น หน่วยงานเดียวไม่มีทางทำได้ ต้องร่วมมือกัน
เรื่องปัญหาฝุ่น PM 2.5 เรา กทม. เอง ปฏิเสธไม่ได้ เราต้องทำเต็มที่ เราเจ้าภาพ ตอนนี้ที่เราคิดทำพัฒนามา คือ ระบบแจ้งเหตุ การ predict การคาดการณ์ล่วงหน้า อย่างน้อยก็จะเห็นได้ว่ามีการเตือนที่ถี่ขึ้น ที่ละเอียดขึ้น การ predict หรือว่าการพยากรณ์ที่แม่นยำขึ้น เพราะว่าอย่างน้อยให้เรารับมือได้ดีขึ้น วางแผนล่วงหน้าได้ หรือว่าถ้าเกิดมีเหตุการณ์ ก็ให้ Work from Home แต่พอเกิดการเผาด้านนอกคงต้องขอความร่วมมือ รวมทั้งในประเทศ นอกประเทศ อย่างตอนนี้เมียนมาก็เผา 5,000 จุด ในสปป.ลาว ในกัมพูชา พอเราไปพูด เขาบอกว่า ทำไม! วิถีชีวิตเขา จริงๆ แล้วมันก็เป็นวิถีชีวิตเกษตรกรมาที่เขาทำ ก็คงต้องเป็นเรื่องที่ขอความร่วมมือกัน อันสุดท้าย ยากที่สุดเลย คือ สภาพอากาศ อันนี้เป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ สิ่งที่เราควบคุมได้ คือแหล่งกำเนิดในกรุงเทพฯ จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่เราคิดอยากย้ายท่าเรือคลองเตย ซึ่งอยู่ในวาระแห่งชาติอยู่แล้ว แต่ว่าไม่ค่อยมีคนพูดถึง รวมถึงเรื่องน้ำทะเลหนุนสูงด้วย

“ในระบบฝั่งของการเตือนภัยเราแม่นยำขึ้น ก็เหลือฝั่งต้นตอแล้ว อย่างที่บอกไม่มีทางเลย หน่วยงานเดียว ไม่มีทางทำได้ ต้องร่วมมือกัน ในหลายภาคส่วน
ใจผมอยากจะให้รู้เลยว่า ฝุ่นมาจากไหน เราก็มีอาจารย์ที่ทำวิจัยอยู่ เอาฝุ่นไปวิเคราะห์เลยว่า ฝุ่นที่อยู่ในกรุงเทพฯ สรุปแล้วมาจากไหน มาจากรถยนต์ มาจากเผาชีวมวล จะได้รู้ต้นตอไง เริ่มทำแล้ว คิดว่าอาทิตย์นี้น่าจะได้ผลของฝุ่น อย่างฉีดน้ำ ที่ดราม่ากันเยอะ ว่าได้ผลไหม คือโชคดี ตอนนั้นผมไป test หนหนึ่ง ที่สวนเบญจกิติ ตอนที่น้ำลง บางทีมันก็ลดลงได้ จะมีลม มีความชื้น แต่พอหยุดน้ำ ฝุ่นมันก็กลับคืนมา การเอาน้ำฉีดชั่วคราวไม่ได้ช่วยหรอก
ปลูกต้นไม้ช่วยแน่นอน ถ้าดูแอปฯ ของเรา ถ้าดูสวนลุมฯ นะ ฝุ่นต่ำกว่าที่อื่น อย่างน้อยประมาณ 8 ลูกบาศก์ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรทุกเช้า และในอนาคตกำลังคุยเรื่องการแจ้งเตือนผ่านระบบ SMS ส่งไปยังโทรศัพท์มือถือโดยตรง” นายชัชชาติ กล่าว

ทำงานกับรัฐบาลชุดนี้เป็นอย่างไร
จริงๆ แล้วเราต้องรู้จักตัวเอง เราอยู่ใต้กระทรวงมหาดไทย ต้องร่วมมือกับรัฐบาลแน่นอน บางอย่างที่มีปัญหาก็ต้องแจ้งไป เช่น เรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่เกิดเกษตรกรจำแลง หันมาปลูกกล้วยและอ้อยเยอะ ทำให้การจัดเก็บภาษีสูญเสียไปเยอะ
“วันก่อนไปดูแถวห้วยขวาง มีที่ 7 ไร่ หากเสียภาษีปกติ 4 ล้าน แต่พอเป็นเกษตรจำแลง เสีย 3 แสน เราก็เสียดาย และขอรัฐบาลไป หากคุณอยู่ในพื้นที่ชั้นในแล้วทำการเกษตร ขอเสียภาษีเพิ่มขึ้น คือเราก็ห่วงเกษตรกรตัวจริง เช่น หนองจอก มีนบุรี” นายชัชชาติ กล่าว

บางอย่างเราอาจจะมีข้อเสนอให้กับรัฐบาล แต่เราคือท้องถิ่น
รัฐบาลคือภาพรวม แต่รัฐบาลก็ให้เกียรติเราดี ไม่ได้มีปัญหาอะไร
จากปีที่แล้วจนถึงปีนี้พื้นที่เกษตรจำแลง เพิ่มขึ้น 8,700 แปลง
จากพื้นที่เกษตรทั้งหมด 21,000 แปลง จำนวน 184,000 ไร่
ถ้าดูพื้นที่การทำเกษตรจริงๆ ประมาณ 50,000 ไร่
ซึ่งกำลังให้เขตทำการแยกรายละเอียดอยู่ ว่าทำไมเกษตรเยอะขึ้น
เพราะคนรู้วิธี คนก็เลยไปเลี่ยงกันหมด (เลยเลือกจ่าย 3 แสนดีกว่า)
ไม่ดี จ่าย 4 ล้านดีกว่า เพื่อช่วยประเทศชาติ
ตอนนี้เรากำลังเร่งเอาข้อมูลทุกอย่างขึ้นระบบดิจิทัลให้ได้ 100%
เพื่อประเมินว่าเกษตรกรตัวจริงหรือไม่ เพื่อจะเก็บภาษีได้เต็มที่
คิดว่าน่าจะได้รายได้จากภาษี เกือบ 20,000 ล้านบาท
จากที่ปัจจุบันอยู่ที่ 18,000 ล้านบาท
“รัฐบาลให้ของขวัญประชาชน คือเอาเงิน กทม. ไป ลดไป 15% (ช่วงนี้ใกล้เลือกตั้งรึเปล่า) อันนี้โนคอมเมนต์ ก็หวังว่าภาษีที่ลดไป 15% จะช่วยการจับจ่ายใช้สอย เป็นภาษีที่หมุนกลับมาแล้วกัน เรามองในแง่ดี แต่ก็อย่าลดบ่อย ถ้าลดก็ช่วยเก็บภาษีคืนให้ด้วยครับ” นายชัชชาติ กล่าวพร้อมยิ้ม

ผู้เขียน : Supattra.l
กราฟิก :Varanya.p
คุณกำลังดู: มุมมองเกือบ 1 ปี กับชีวิตผู้ว่าฯ ชัชชาติ ผู้นำต้องฟังคำติ ไม่ใช่ฟังแต่คำชม(คลิป)
หมวดหมู่: การเมือง
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- PM 2.5 เมืองเชียงใหม่ สูงกว่า 108 มคก./ลบ.ม. หมอป่วยมะเร็งร้องรัฐแก้ไขจริงจัง
- มท.1 สั่งทุกจังหวัด ยกระดับคุมเข้มไฟป่าแก้ฝุ่น กทม. อาจต้อง “เวิร์กฟอร์มโฮม”
- "วิกฤติฝุ่นพิษ" คุกคาม กทม. กำชับเข้มมาตรการลดฝุ่น-ดูแนวทางแก้ระยะยาว
- "ชัชชาติ" ย้ำ เอาจริงข้าราชการ กทม.ทุจริต แค่ ก.พ. เดือนเดียว 19 เรื่อง
- “ชัชชาติ” กินมื้อเที่ยงกับลูกจ้างเขตคลองสามวา ฟังปัญหาการทำงาน-ชีวิต
- “ชัชชาติ” โต้ไม่สานต่องาน “อัศวิน” ยัน กทม. ยังไม่หยุดเดินเรือคลองผดุงฯ