น้ำท่วมใหญ่ปากีสถาน สัญญาณเตือนภัยโลกรับมือผลกระทบโลกร้อน

ปากีสถานกลายเป็นประเทศด่านหน้าที่ต้องเจอน้ำท่วมครั้งใหญ่ผลกระทบจากวิกฤตความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ทั้งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นไม่ถึง 1% ของตัวเลขปล่อยก๊าซทั่วโลก

น้ำท่วมใหญ่ปากีสถาน สัญญาณเตือนภัยโลกรับมือผลกระทบโลกร้อน
  • น้ำท่วมครั้งใหญ่เกินคาดการณ์ในช่วงฤดูมรสุมปีนี้ ทำให้พื้นที่กว่า 1 ใน 3 ของปากีสถานจมอยู่ใต้น้ำ มีประชาชนสังเวยชีวิตกว่า 1,290 ศพ บาดเจ็บ 3,554 ราย และอีกกว่า 33 ล้านคนได้รับผลกระทบนับตั้งแต่ฤดูมรสุมเริ่มขึ้นในช่วงกลางเดือน มิ.ย.
  • ทางการปากีสถานประเมินความเสียหายเบื้องต้นว่าอยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเกือบ 4% ของตัวเลขจีดีพีในประเทศ เนื่องจากมีบ้านเรือนของประชาชนพังเสียหายไปกว่า 700,000 หลัง พื้นที่ไร่นาการเกษตรจมอยู่ใต้น้ำ คาดว่ายังเพาะปลูกไม่ได้ไปอีกหลายเดือน
  • สำนักงานอุตุนิยมวิทยาปากีสถาน ระบุว่า ปกติแล้วฤดูมรสุมของปากีสถานจะเจอฝนตกหนักประมาณ 3-4 ระลอก แต่ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทำให้ในปีนี้เจอถึง 8 ครั้งแล้ว พร้อมเตือนว่าฤดูมรสุมปีนี้ยังไม่จบ เพราะจะมีฝนตกหนักระลอกใหม่อีกในเดือนนี้

ก่อนหน้านี้ปากีสถานเคยเกิดเหตุการณ์ "มหาอุทกภัย" เมื่อปี 2553 ทำให้มีประชาชนพลัดถิ่นไร้ที่อยู่อาศัยกว่า 20 ล้านคน ในตอนนั้นผู้เชี่ยวชาญระบุว่าเป็นหายนะทางด้านมนุษยธรรมครั้งร้ายแรงที่สุด เท่าที่ปากีสถานเคยเจอมา

ในอีก 12 ปีต่อมา น้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ทำให้บรรดานักวิเคราะห์ และผู้นำทางการเมือง พยายามหาคำพรรณนาถึงความเสียหายจากฝนตกหนักในฤดูมรสุมปีนี้ ซึ่งทาง นายอันโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติระบุว่า เป็นความเสียหายร้ายแรงของยุคสมัยนี้

รัฐบาลปากีสถานประกาศสถานการณ์ภัยพิบัติฉุกเฉินแห่งชาติ โดยประเมินความเสียหายเบื้องต้นว่าอยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมวอนขอความช่วยเหลือจากนานาประเทศ ขณะที่สหประชาชาติตั้งกองทุนเปิดรับบริจาค 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ช่วยเหยื่อน้ำท่วมปากีสถาน

ประมวลความเสียหายโดยรวม

กระทรวงการวางแผนของปากีสถาน ประเมินว่าความเสียหายจากน้ำท่วมใหญ่ในครั้งนี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในเบื้องต้นอยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 368,000 ล้านบาท คิดเป็นเกือบ 4% ของตัวเลขจีดีพีของประเทศ เนื่องจากมีบ้านเรือนของประชาชนถูกน้ำซัดพังเสียหาย จมอยู่ใต้น้ำกว่า 700,000 หลัง และคาดว่าพื้นที่การเกษตรจะเพาะปลูกไม่ได้ไปอีกหลายเดือน ซึ่งจะสร้างความเสียหายหนัก เนื่องจากปากีสถานเป็นประเทศเกษตรกรรม ถ้าไม่มีพื้นที่เพาะปลูกก็เท่ากับรายได้เสียหายไปอีกหลายล้านดอลลาร์ และยังเกิดความเสี่ยงภาวะขาดแคลนอาหาร

ผู้เชี่ยวชาญมองว่าตอนนี้ปากีสถานที่มีประชากรประมาณ 220 ล้านคน กำลังเผชิญวิกฤติด้านมนุษยธรรมครั้งใหญ่ คาดว่าในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าอาจจะมีตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น1,290 ศพ นับตั้งแต่ฤดูมรสุมเริ่มขึ้นในช่วงกลางเดือน มิ.ย.

หน่วยงานจัดการภัยพิบัติแห่งชาติของปากีสถาน ระบุว่า ขณะนี้พื้นที่กว่า 1 ใน 3 ของปากีสถานยังนจมอยู่ใต้น้ำ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมีประมาณ 72 เขต จากทั้งหมด 160 เขต

คาดว่าถนนได้รับความเสียหายมากกว่า 5,000 กิโลเมตร บ้านเรือนถูกน้ำซัดพังเสียหายประมาณ 10 ล้านหลัง ปศุสัตว์จมน้ำตายไปกว่า 700,000 ตัว โดยที่แคว้นสินธ์เป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายหนักที่สุด มีผู้เสียชีวิตถึงกว่า 400 ศพ ในจำนวนนี้เป็นเด็กประมาณ 160 ศพ มีประชาชนได้รับผลกระทบร้ายแรงกว่า 14 ล้านราย และจนถึงตอนนี้มีประชาชนกว่า 377,000 คน ต้องอาศัยอยู่ในเต็นท์ชั่วคราวที่ทางการจัดเตรียมไว้ให้

ส่วนที่แคว้นบาลูจิสถาน พื้นที่ขนาดใหญ่ที่ประชาชนส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ก็ได้รับความเสียหายหนัก ประชาชนกว่า 9 ล้านคนต้องอพยพหนีน้ำ แต่ตอนนี้เต็นท์พักอาศัยมีพอรองรับได้เพียง 7,000 คน

อะไรคือสาเหตุทำให้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่

หน่วยงานดัชนีความเสี่ยงความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก จัดอันดับให้ปากีสถานอยู่ลำดับที่ 8 ในกลุ่มประเทศความเสี่ยงสูงสุดที่จะได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่มีต้นเหตุมาจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ทั้งปากีสถานเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นไม่ถึง 1% ของตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก

โดยวิกฤติสภาพอากาศแปรปรวนสุดขั้วได้ทำให้ปากีสถานได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากเราไม่สามารถพยากรณ์รูปแบบสภาพอากาศเดิมได้อีกต่อไป

เมื่อต้นปีนี้ปากีสถานเพิ่งเผชิญคลื่นความร้อน และประสบภัยแล้งยาวนานหลายเดือนในแคว้นสินธ์ และบาลูจิสถาน แต่ไม่กี่เดือนต่อมาก็มีฝนตกหนักสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ ในสองแคว้นนี้มีปริมาณฝนตกมากกว่า 500% เทียบกับปริมาณฝนตกเฉลี่ยรวมในแต่ละปี

ซารา ฮาอัต ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ระบุว่า หากถามว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ปากีสถานประสบภัยธรรมชาติครั้งร้ายแรงนี้ ต้องดูหลายปัจจัยที่ประกอบขึ้นเป็นพีระมิด และส่วนรากฐานของพีระมิดนี้คือ ปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โดยน้ำท่วมครั้งใหญ่เกิดจากฝนตกหนักปริมาณมหาศาล และธารน้ำแข็งที่ละลายตัวไหลบ่าลงมาจากทางตอนเหนือของประเทศ โดยที่ผ่านมาฤดูมรสุมของปากีสถานจะมีฝนตกหนักประมาณ 3-4 ระลอก แต่ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ทำให้ในปีนี้เจอถึง 8 ครั้งแล้ว และคาดว่าจะมีฝนตกหนักต่อเนื่องไปจนถึงเดือน ต.ค. ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์แปลกที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

นักวิเคราะห์ด้านสภาพอากาศ ระบุว่า หากเทียบกับน้ำท่วมใหญ่ปี 2553 จะพบว่าปีนี้มีหลายปัจจัยที่แสดงให้เห็นว่าธรรมชาติมีความโหดร้ายมากขึ้น มีหลายปัจจัยเกิดขึ้นในคราวเดียวทำให้เกิดความเสียหายอย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมในเมืองใหญ่ น้ำท่วมฉับพลัน น้ำท่วมทะลักจากทะเลสาบธารน้ำแข็ง (glacial lake bursts) และการเกิดฝนตกแบบฟ้ารั่ว (cloud bursts) ทุกอย่างล้วนเชื่อมโยงกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

โดยนักวิเคราะห์ระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นยากที่จะโทษว่ารัฐบาลไม่ได้เตรียมความพร้อมรับมือ เพราะนี่ไม่ใช่น้ำท่วมแบบที่เคยเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ไม่ใช่น้ำท่วมจากฝนตกหนัก ทำให้แม่น้ำล้นตลิ่งเหมือนที่ผ่านมา และนี่อาจเป็นครั้งแรกที่ปากีสถานต้องเผชิญกับผลกระทบจากโลกร้อนที่ส่งผลต่อรูปแบบการเกิดมรสุม และเวลาเท่านั้นที่จะบอกได้ว่า ธรรมชาติแปรปรวนแบบที่เกิดขึ้นนี้จะกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอีกเป็นประจำ หรือนิวนอร์มอล หรือไม่

ความท้าทายที่รออยู่

ในขณะที่ปากีสถานเพิ่งได้โล่งใจจากวิกฤติเงินเฟ้อ หลังกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ เพิ่งอนุมัติปล่อยกู้เป็นจำนวนเงิน 1,170 ล้านบาท ก็ได้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่พอดี ทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพทางการเมือง ในขณะที่ปากีสถานกำลังใกล้เข้าสู่การเลือกตั้ง ซึ่งอาจทำให้บรรดานักการเมืองคิดถึงแต่การเลือกตั้งจนลืมภารกิจการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม และช่วยกันฟื้นฟูประเทศชาติจากความเสียหายครั้งใหญ่

นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายจากการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังน้ำท่วม ทั้งผลกระทบจากบ้านเรือนของประชาชนพังเสียหาย พื้นที่ทำการเกษตร ถนนหนทาง และปศุสัตว์ ทุกอย่างล้วนต้องใช้งบประมาณก้อนโต นอกจากนี้ประชาชนยังต้องเจอกับปัญหาราคาอาหารแพง

ขณะเดียวกันก็กำลังจะเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความท้าทายในช่วงที่ปากีสถานกำลังจะต้องเร่งฟื้นฟูความเสียหายจากน้ำท่วม และฟื้นฟูเศรษฐกิจตามแนวทางของโครงการไอเอ็มเอฟ แก้ปัญหาการนำเข้าก๊าซ และปัญหาราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขยับราคาสูงขึ้น

ส่วนความท้าทายใหญ่หลวงคือการที่มหาอุทกภัยที่ทำให้เกิดความเสียหายอย่างหนักแบบปีนี้ จะกลายเป็นรูปแบบใหม่ของฤดูมรสุมในปากีสถาน ทำให้ปากีสถานต้องเจอกับภัยธรรมชาติรุนแรงเช่นนี้บ่อยครั้งนับจากนี้.

ผู้เขียน : เพ็ญโสภา สุคนธรักษ์

ข้อมูล : BBCAljazeera

คุณกำลังดู: น้ำท่วมใหญ่ปากีสถาน สัญญาณเตือนภัยโลกรับมือผลกระทบโลกร้อน

หมวดหมู่: ต่างประเทศ

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด