นับถอยหลัง พิธีราชาภิเษกคิงชาร์ลส์ ภายใต้รหัส 'ปฏิบัติการลูกโลกทองคำ'

พิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 6 พ.ค. 2566 ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ในกรุงลอนดอน ภายใต้แผนรหัส 'ปฏิบัติการลูกโลกทองคำ' นับเป็นเหตุการณ์สำคัญประวัติศาสตร์ครั้งแรก

นับถอยหลัง พิธีราชาภิเษกคิงชาร์ลส์ ภายใต้รหัส 'ปฏิบัติการลูกโลกทองคำ'
  • พิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าชาร์ลส์ ที่ 3 จะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 6 พ.ค. 2566 ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ในกรุงลอนดอน ภายใต้แผนรหัส 'ปฏิบัติการลูกโลกทองคำ' นับเป็นเหตุการณ์สำคัญประวัติศาสตร์ครั้งแรกในรอบ 70 ปีของอังกฤษ หลังควีนเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จสวรรคต
  • คาดจะมีผู้ได้รับเชิญมาร่วมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกราว 2,200 คน ทั้งพระบรมวงศานุวงศ์อังกฤษ ผู้แทนจากรัฐสภา ประมุขและสมาชิกราชวงศ์จากต่างประเทศ ในขณะที่เจ้าชายแฮร์รี่ยืนยันแล้วว่าจะเสด็จฯ มาจากสหรัฐฯ มาร่วมในพิธีราชาภิเษกของพระราชบิดา แต่เมแกน ไม่ได้มาด้วย
  • ขั้นตอนสำคัญของพิธีบรมราชาภิเษก มี 6 ขั้นตอน โดยสำนักพระราชวังบักกิงแฮมประกาศก่อนหน้านี้แล้วว่า กษัตริย์ชาร์ลส์ จะไม่นำเพชรโค-อิ-นัวร์ มาประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกครั้งนี้ของพระองค์ โดยจะทรงสวมมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด ในขณะที่พระราชินีคามิลลา จะทรงมงกุฎของควีนแมรี

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ ที่ 3 ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่แห่งอังกฤษ จะมีขึ้นที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ในกรุงลอนดอน ในวันที่ 6 พ.ค. 2566 ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งแรกในรอบ 70 ปีของอังกฤษ หลังจากสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 พระราชมารดา เสด็จสวรรคต ขณะพระชนมพรรษา 96 พรรษา เมื่อ 8 ก.ย. 2565 ภายหลังทรงครองสิริราชสมบัติ 70 ปี จนนับเป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดของอังกฤษ

บีบีซีระบุว่า ถึงแม้ในทางกฎหมายของอังกฤษ จะถือว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ได้ทรงขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่โดยอัตโนมัติในทันทีที่พระราชมารดาสวรรคต แต่ราชวงศ์อังกฤษและรัฐบาลสหราชอาณาจักรยังต้องจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามธรรมเนียมโบราณ เนื่องจากเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการเริ่มต้นรัชสมัยอย่างแท้จริง

สำหรับรายละเอียดต่างๆ ของพระราชพิธีสำคัญครั้งประวัติศาสตร์ยังคงเป็นความลับสุดยอด ภายใต้แผนการที่มีชื่อเป็นรหัสว่า "ปฏิบัติการลูกโลกทองคำ" (Operation Golden Orb)

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะมีขึ้น ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ในกรุงลอนดอน วันที่ 6 พ.ค.2566
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะมีขึ้น ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ในกรุงลอนดอน วันที่ 6 พ.ค.2566

นับถอยหลังพิธีบรมราชาภิเษกคิงชาร์ลส์

พิธีบรมราชาภิเษก (coronation) คือพิธีทางศาสนาที่มีการสวมพระมหามงกุฎลงบนพระเศียรของกษัตริย์พระองค์ใหม่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ในการถวายพระราชอำนาจ รวมทั้งบทบาทพระประมุขแห่งศาสนจักรอังกฤษและพระอิสริยยศอื่นๆ ในคราวเดียวกัน

สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 พระชนมพรรษา 74 พรรษา ในฐานะพระราชโอรสองค์โตในสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ผู้ล่วงลับ จะทรงได้รับการสวมพระมหามงกุฎในวันเสาร์ที่ 6 พ.ค. 2566 ตามเวลาท้องถิ่น ในขณะที่ สมเด็จพระราชินีคามิลลา พระวรชายาจะได้รับการทรงมงกุฎเคียงข้างกษัตริย์ชาร์ลส์ ที่ 3 ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์

สำหรับกำหนดวันประกอบพิธีบรมราชาภิเษกนั้น เป็นการเห็นชอบโดยรัฐบาลอังกฤษ, คริสตจักรแห่งอังกฤษ (Church of England) และสำนักพระราชวังอังกฤษ

สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 พระราชินีคามิลลา, เจ้าหญิงแอนน์ พระราชกุมารีและเจ้าชายแอนดรูว์
สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 พระราชินีคามิลลา, เจ้าหญิงแอนน์ พระราชกุมารีและเจ้าชายแอนดรูว์

ใครจะได้รับเชิญมาร่วมในพิธีบรมราชาภิเษก?

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ถือเป็นรัฐพิธี ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลสหราชอาณาจักรจึงเป็นผู้คัดเลือกและจัดทำรายชื่อผู้ได้รับเชิญเข้าร่วมในพระราชพิธีสำคัญครั้งนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ได้รับเชิญมาร่วมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ราว 2,200 คน

นอกจากบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ราชวงศ์อังกฤษแล้ว ยังรวมถึงนายกรัฐมนตรี ผู้แทนจากรัฐสภา ประมุข และพระบรมวงศานุวงศ์จากต่างประเทศจะได้รับเชิญให้มาร่วมในพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3

ในขณะที่ เจ้าชายแฮร์รี่ ดยุกแห่งซักเซกซ์ พระราชโอรสองค์ที่สอง ซึ่งเป็นองค์เล็กในสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และเจ้าหญิงไดอานา ผู้ล่วงลับ ได้ยืนยันแล้วว่าจะเสด็จพระดำเนินจากสหรัฐอเมริกามาร่วมในพระราชพิธีสำคัญครั้งนี้ของพระราชบิดา แต่ชายา เมแกน ดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ ชายา จะไม่ได้มาด้วย

ภาพในอดีต: สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 พร้อมด้วยเจ้าชายวิลเลียม และเจ้าชายแฮร์รี่ พระราชโอรส
ภาพในอดีต: สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 พร้อมด้วยเจ้าชายวิลเลียม และเจ้าชายแฮร์รี่ พระราชโอรส

สำหรับการมาร่วมในพระราชพิธีราชาภิเษกพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 นับเป็นพระราชพิธีแรกของเจ้าชายแฮร์รี่ หลังออกหนังสือบันทึกความทรงจำ Spare สั่นสะเทือนราชวงศ์อังกฤษอย่างหนักอีกครั้งเมื่อเดือนมกราคม ที่ผ่านมา นอกจากนั้น วันประกอบพิธีราชาภิเษกในวันที่ 6 พ.ค. ยังเป็นวันคล้ายวันประสูติของเจ้าชายอาร์ชี โอรสองค์โตของเจ้าชายแฮร์รี่และเมแกน ซึ่งจะมี ชันษาครบ 4 ปี

นอกจากนั้น ผู้ที่ได้รับเชิญให้มาร่วมในพระราชพิธีครั้งนี้ ยังคาดว่าเจ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์ก พระราชอนุชาในพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงมาร่วมในพิธีเช่นกันส่วนซาราห์ เฟอร์กูสัน ดัชเชสแห่งยอร์ก อดีตพระชายาในเจ้าชายแอนดรูว์ จะไม่ได้มา หลังจากแหล่งข่าวยืนยันว่าเนื่องจากดัชเชสแห่งยอร์กไม่ได้ถูกเชิญให้มาร่วมในพระราชพิธี

ในขณะที่ เหล่าพระนัดดาของสมเด็จพระราชินีคามิลลาก็จะได้รับเชิญให้มาร่วมในพิธีบรมราชาภิเษกที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ เคียงข้าง เจ้าชายจอร์จ พระราชนัดดาองค์โตในพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3

ส่วนประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ จะไม่มาร่วมงาน แต่มอบหมายให้ จิล ไบเดน สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ มาร่วมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ในฐานะผู้แทนของประธานาธิบดีไบเดน

มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ในกรุงลอนดอน
มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ในกรุงลอนดอน

ขั้นตอนสำคัญของพิธีบรมราชาภิเษก


บีบีซีรายงานวา การประกอบพิธีบรมราชาภิเษกของอังกฤษนั้น แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงสิ่งใดๆ เลยตลอดช่วง 1,000 ปีที่ผ่านมา แต่สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 นั้น สำนักพระราชวังบักกิงแฮมได้แถลงเป็นนัยว่าอาจมีความเปลี่ยนแปลงบางประการ

แม้โดยหลักแล้วจะยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีมายาวนาน แต่ก็จะมีการปรับเปลี่ยนให้ "สะท้อนถึงบทบาทของกษัตริย์ยุคใหม่และการมองการณ์ไกลไปสู่อนาคต"

โดยทั่วไปแล้ว พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของอังกฤษมี 6 ขั้นตอนหลักดังนี้

1.ถวายความจงรักภักดี : อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี ผู้นำศาสนจักรแห่งอังกฤษ ประกาศการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์พระองค์ใหม่ขณะประทับยืนอยู่ข้างพระราชอาสน์ จากนั้นผู้เข้าร่วมพระราชพิธีร้องตะโกนขึ้นพร้อมกันว่า "ขอพระผู้เป็นเจ้าทรงคุ้มครองพระราชา" (God Save the King!) และมีการเป่าแตรตามมา

2.ทรงกล่าวคำปฏิญญา : กษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงให้คำมั่นว่าจะยึดถือกฎหมายและพิทักษ์รักษาศาสนจักรแห่งอังกฤษ

3.การเจิมด้วยน้ำมันศักดิ์สิทธิ์

4.ถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ : อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์แก่กษัตริย์พระองค์ใหม่ ขณะที่ยังประทับบนพระราชอาสน์ โดยเริ่มจากการถวายพระลูกโลกประดับกางเขน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระราชอำนาจทางศีลธรรมและศาสนา ตามมาด้วยการถวายพระคทาซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความยุติธรรมและความเมตตากรุณา จากนั้นจึงจะสวมพระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดลงบนพระเศียร

5.ขึ้นประทับบนพระราชบัลลังก์ : กษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงลุกจากพระราชอาสน์เพื่อไปประทับบนพระราชบัลลังก์ จากนั้นเหล่าพระราชวงศ์และขุนนางผู้เข้าร่วมพิธีทยอยกันเข้าเฝ้าถวายความเคารพโดยคุกเข่าลงต่อหน้าพระพักตร์

6.พระราชพิธีสำหรับสมเด็จพระราชินี : หลังเสร็จสิ้นขั้นตอนในพระราชพิธีของกษัตริย์พระองค์ใหม่แล้ว จะมีการเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์และสวมพระมหามงกุฎให้กับสมเด็จพระราชินีด้วยเช่นกัน

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด ที่ถือเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์สำคัญในพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์อังกฤษมานานกว่า 350 ปี
พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด ที่ถือเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์สำคัญในพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์อังกฤษมานานกว่า 350 ปี

กษัตริย์ชาร์ลส์ จะไม่นำเพชรโค-อิ-นัวร์ มาประกอบพระราชพิธีราชาภิเษก

พระราชวังบักกิงแฮมแถลงก่อนจะถึงวันประกอบพิธีบรมราชาภิเษกว่าจะไม่มีการนำเพชรโค-อิ-นัวร์ เพชรโบราณ ซึ่งเป็นหนึ่งในเพชรเจียระไนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่เป็นข้อถกเถียงมาใช้ในพระราชพิธีราชาภิเษกครั้งนี้

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด ที่ถือเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์สำคัญในพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์อังกฤษมานานกว่า 350 ปี โดยมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด ถูกสร้างขึ้นครั้งแรก เพื่อกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 2 ในปี ค.ศ. 1661 เพื่อทดแทนมงกุฎก่อนหน้านี้ซึ่งถูกทำลายไปหลังจากสงครามกลางเมืองในอังกฤษ

ในขณะที่สมเด็จพระราชินีคามิลลาจะทรงมงกุฎของควีนแมรีแทน ซึ่งมงกุฎนี้จะถูกนำออกจากหอคอยแห่งลอนดอนเพื่อปรับขนาดสำหรับพิธีราชาภิเษกในวันที่ 6 พฤษภาคม 2566 ซึ่งคาดว่าจะมีพสกนิกรในอังกฤษและประชาชนทั่วโลกจำนวนมากเฝ้าติดตามชมพระราชพิธีสำคัญในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบเกือบศตวรรษของอังกฤษเลยทีเดียว

ที่มา : BBC, AP

คุณกำลังดู: นับถอยหลัง พิธีราชาภิเษกคิงชาร์ลส์ ภายใต้รหัส 'ปฏิบัติการลูกโลกทองคำ'

หมวดหมู่: ต่างประเทศ

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด