นักดาราศาสตร์ เผยภาพการบินแรกของกล้องโทรทรรศน์บอลลูน SuperBIT

ในขณะที่กล้องโทรทรรศน์บนภาคพื้นดินต้องส่องผ่านชั้นบรรยากาศของโลก นั่นหมายความว่ามุมมองของภาพอาจพร่ามัวได้ แต่กล้องโทรทรรศน์ในอวกาศจะมองเห็นแสงที่เดินทางมาหลายพันล้านปีจากจักรวาลอันไกลโพ้นได้ชัดเจน แต่ถึงจะมีกล้องโทรทรรศน์อวกาศใช้งานอยู่หลายตัว แต่นักดาราศาสตร์ก็ไม่นิ่งนอนใจที่จะเพิ่มพูนข้อมูล ยังคงมีการประดิษฐ์สร้างเครื่องมือใหม่ๆมาช่วยงานอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด กล้องโทรทรรศน์การถ่ายภาพด้วยบอลลูนความดันสูง (SuperBIT) ที่เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเดอรัม ในอังกฤษ, มหาวิทยาลัยโตรอนโต ในแคนาดา, มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน และองค์การนาซา ของสหรัฐอเมริกา ที่ถูกปล่อยจากเมืองวานากา บนเกาะใต้ของนิวซีแลนด์ เมื่อเร็วๆนี้ได้ส่งผลงานถ่ายภาพแรกเป็นภาพเนบิวลาทารันทูลา ในกาแล็กซีเมฆแมกเจลแลนใหญ่ เนบิวลาแห่งนี้เป็นแหล่งกำเนิดดาวดวงใหม่ และยังเผยภาพการชนกันของ 2 กาแล็กซีหนวดแมลงคือ NGC 4038 และ NGC 4039
SuperBIT บินที่ระดับความสูง 33.5 กิโลเมตร เหนือชั้นบรรยากาศโลก ถ่ายภาพความละเอียดสูงได้เช่นเดียวกับกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล แต่มีขอบเขตการมองเห็นที่กว้างกว่า หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของ SuperBIT ก็คือตรวจสอบความลึกลับของสสารมืดที่เป็นวัตถุหนักแต่มองไม่เห็น ทฤษฎีต่างๆ เกี่ยวกับสสารมืดนำเสนอว่า ระหว่างการชน สสารมืดบางส่วนอาจเคลื่อน ที่ช้าลง กระจายออก หรือแตกออก ซึ่ง SuperBIT จะดูว่าอนุภาคสสารมืดมีการกระเด็นออกจากกันได้หรือไม่ แม้ว่าสสารมืดจะมองไม่เห็น แต่ SuperBIT จะทำแผนที่ว่าสสารมืดอยู่ที่ใด โดยใช้วิธีหักเหรังสีของแสงที่ผ่าน ซึ่งเป็นเทคนิคที่เรียกว่าเลนส์ความโน้มถ่วง.
Credit : SuperBIT
คุณกำลังดู: นักดาราศาสตร์ เผยภาพการบินแรกของกล้องโทรทรรศน์บอลลูน SuperBIT
หมวดหมู่: ต่างประเทศ