นักอนุรักษ์ตื่นเต้น "นกช้อนหอยดำเหลือบ" นกหายากฝูงใหญ่โผล่บึงหนองหาร

นักอนุรักษ์ตื่นเต้น "นกช้อนหอยดำเหลือบ" นกหายากฝูงใหญ่โผล่บึงหนองหาร

นักอนุรักษ์ตื่นเต้น พบ "นกช้อนหอยดำเหลือบ" นกหายากฝูงใหญ่สุดในไทย โผล่บึงหนองหาร ทั้งๆ ที่คาดว่าทั้งประเทศมีไม่เกิน 50 ตัว


เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา มีรายงานว่า ชมรมอนุรักษ์นกสกลนคร และทีมคณะสำรวจนกน้ำที่อาศัยในพื้นที่หนองหารจังหวัดสกลนคร นำโดย อาจารย์มงคล วงศ์กาฬสินธ์ุ ประธานชมรมดูนก แอนด์ เนเจอร์ ประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนกภูมิภาคอาเซียน นายนิพนธ์ มูลเมืองแสน นายกสมาคมผู้ใช้น้ำจังหวัดสกลนคร นายเจริญชัย ศิริคุณ ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสกลนคร และภาคประชาชน ลงพื้นที่หนองหารจังหวัดสกลนคร เพื่อเก็บบันทึกข้อมูลนกรวมทั้งสัตว์ที่อาศัยในพื้นที่หนองหาร เพื่อปลุกกระแสการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบหนองหารให้ร่วมหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ

โดยหนองหาร จังหวัดสกลนคร เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นบึงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน มีเนื้อที่กว่า 77,016 ไร่ หรือ 123 ตารางกิโลเมตร มีสัตว์หลากหลายสายพันธุ์ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งอาศัยของนกนานาชนิด ทั้งที่เป็นนกอพยพและเป็นนกประจำถิ่น สำหรับนกประจำถิ่นที่พบในพื้นที่แห่งนี้ จากข้อมูลที่มีการจดบันทึกครั้งล่าสุด พบว่ามีนกประจำถิ่น 60 ชนิด นอกจากนี้ยังมีนกอพยพอีกกว่า 20 ชนิด

การสำรวจของทีมคณะสำรวจนกน้ำที่อาศัยในพื้นที่หนองหารจังหวัดสกลนคร นำโดย อาจารย์มงคล วงศ์กาฬสินธุ ในครั้งนี้ใช้เวลาสั้นๆ เพียง 2 วัน โดยแบ่งทีมสำรวจออกเป็น 3 ทีม ซึ่งในแต่ละทีมประกอบด้วยนักดูนก ช่างภาพนกมืออาชีพ ซึ่งพบว่านกน้ำที่อาศัยหากินอยู่ในพื้นที่หนองหารมีการเพิ่มจำนวนที่มากขึ้น ซึ่งอาจเนื่องมาจากการล่านกของประชาชนโดยรอบหนองหารลดน้อยลง พบมีนกต่างถิ่นที่ไม่เคยพบในจังหวัดสกลนครหลายชนิด เช่น เหยี่ยวแดง พบทั้งตัวผู้และตัวเมีย นกนางนวลแกลบเคราขาว นกกระสาแดง เป็นต้น

แต่ที่ทำให้นักดูนกตื่นเต้นในครั้งนี้คือการพบ “นกช้อนหอยดำเหลือบ” ซึ่งเป็นนกหายากของไทย โดย อาจารย์มงคล กล่าวว่า นกชนิดนี้พบน้อยมาก เคยมีการพบเห็นรวมตัวกันมากสุดเพียงแค่ 1-2 ตัว ซึ่งแต่เดิมนั้นนักดูนกคาดการณ์ว่าทั้งประเทศไทยมีนกชนิดนี้ไม่เกิน 50 ตัว ฉะนั้นการส่องนกชนิดนี้จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายของนักดูนกทั่วประเทศ จุดไหนที่มีข่าวการค้นพบ จะมีนักดูนกทั่วประเทศแห่กันไปสร้างไพรเพื่อชมความงาม ความหายาก

การพบนกช้อนหอยดำเหลือบในพื้นที่หนองหารครั้งนี้ถือเป็นการค้นพบครั้งใหม่ของประเทศไทยเลยก็ว่าได้ เพราะการค้นพบครั้งนี้ถือเป็นการพบนกช้อนหอยดำเหลือบที่มากที่สุดของประเทศไทย คือมีการพบอยู่รวมเป็นฝูงใหญ่ อาจจะถึง 50-100 ตัวเลยทีเดียว จึงขอเชิญชวนนักดูนกและนักถ่ายภาพนกมาดูและถ่ายภาพนกหายากได้ที่ทะเลสาบหนองหาร จังหวัดสกลนคร

สำหรับ "นกช้อนหอยดำเหลือบ" มีลักษณะปากโค้งยาวสีเหลืองคล้ำ หัว คอ และลำตัวด้านบนสีน้ำตาลเข้ม รอบใบหน้าเป็นเส้นสีขาวแกมฟ้า มีลายขีดขาวกระจายที่หัวและคอ ปีกและหลังตอนท้ายเขียวเข้มเหลือบเป็นมัน แข้งและตีนน้ำตาลเข้ม

ขนชุดผสมพันธุ์ : หัว คอ และลำตัวสีน้ำตาลแดงเข้มแกมม่วง หน้าผากเขียวเข้ม ไม่มีลายขีดขาวกระจายที่หัวและคอ เส้นรอบหน้าชัดเจนขึ้นสีฟ้าอ่อน สีเขียวที่ปีกและหลังตอนท้ายเหลือบเป็นมันและแกมสีม่วงมากขึ้น ปากสีน้ำตาลอ่อนกว่าช่วงปกติ

นกวัยอ่อน : สีหม่น ไม่มีเส้นรอบหน้า หัวและคอมีจุดขาวหนาแน่น ขนปีกไม่เหลือบเป็นมันหรือมีเพียงเล็กน้อย

ถิ่นอาศัยในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและล้านนาตะวันออก : พื้นที่ชุ่มน้ำ แหล่งน้ำธรรมชาติ ทุ่งนา บริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ทุ่งนาในพื้นที่จังหวัดพิจิตร จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดอุตรดิตถ์.

คุณกำลังดู: นักอนุรักษ์ตื่นเต้น "นกช้อนหอยดำเหลือบ" นกหายากฝูงใหญ่โผล่บึงหนองหาร

หมวดหมู่: ภูมิภาค

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด