ผลวิจัยมหันตภัยฝุ่นพิษต่อครัวเรือนไทย

ผลวิจัยมหันตภัยฝุ่นพิษต่อครัวเรือนไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันวิจัยป๋วยอึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยงานวิจัยเรื่อง ต้นทุนของสังคมไทยจากมลพิษทางอากาศและมาตรการรับมือ “ฝุ่นจิ๋ว...กับผลกระทบที่ไม่จิ๋ว..ต่อครัวเรือนไทย!” ซึ่งเป็นวิจัย ที่จัดทำโดย นายวิษณุ อรรถวานิช รองศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้ประเมินมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐศาสตร์จากมลพิษทางอากาศต่อสังคมไทย โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจความพึงพอใจและความสุขในชีวิตของชาวไทยและรายได้ครัวเรือน ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ แบบสำรวจข้อมูลความจำเป็นพื้นฐานและข้อมูลประชากรของกระทรวงมหาดไทย ข้อมูลคุณภาพอากาศจากกรมควบคุมมลพิษ โดยพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่น ระดับรายได้ สถานะทางสุขภาพ สภาพสังคม และคุณภาพสิ่งแวดล้อม

นายวิษณุ กล่าวว่า ปี 2562 ฝุ่น PM2.5 สร้างมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐศาสตร์ต่อครัวเรือนไทย 2.173 ล้านล้านบาท และหากรวมทุกสารมลพิษ (PM10, PM2.5, CO, NOx, NO2) มูลค่าความเสียหายต่อครัวเรือนไทยจะสูงถึง 4.616 ล้านล้านบาท เมื่อพิจารณารายจังหวัด พบว่าครัวเรือนทุกจังหวัดของไทย (ยกเว้นภูเก็ต) ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศกันถ้วนหน้า โดย 5 จังหวัดแรกที่มีมูลค่าความเสียหายต่อครัวเรือนสูงสุดได้แก่ กรุงเทพฯมีมูลค่าความเสียหาย 436,330 ล้านบาทต่อปีสำหรับ PM2.5 และ 927,362 ล้านบาทต่อปีเมื่อพิจารณาทุกสารมลพิษ รองลงมาได้แก่ ชลบุรี นครราชสีมา เชียงใหม่ และขอนแก่น ตามลำดับ

ขณะที่เหตุใดมลพิษทางอากาศของประเทศไทยถึงทวีความรุนแรงมากขึ้นพบว่ามาจาก 3 ประเด็น อาทิ ไทยเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจมากและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมน้อย สังเกตได้จากงบประมาณแผ่นดินที่ตั้งไว้สำหรับการปกป้องสิ่งแวดล้อมที่ตั้งไว้เพียง 8,361-12,868 ล้านบาทต่อปี ในปี 2560-2566 หรือ 0.270-0.491% ของงบประมาณแผ่นดินทั้งหมด และปีนี้ ได้ตั้งงบไว้เพียง 0.33% น้อยกว่ามาเลเซียถึง 2 เท่า และสหภาพยุโรปถึง 5 เท่า.

คุณกำลังดู: ผลวิจัยมหันตภัยฝุ่นพิษต่อครัวเรือนไทย

หมวดหมู่: ข่าวเศรษฐกิจ/ธุรกิจ

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด