ปลาหยก..ปลาต่างถิ่น อันตรายขนาดไหน?

“ปลาหยก” (Jade Perch) ที่บริษัทเอกชนรายหนึ่งได้รับอนุญาตจากกรมประมงในการนำเข้ามาแบบมีเงื่อนไข เพื่อการศึกษาวิจัยการเลี้ยงเชิงพาณิชย์ กลายเป็นที่สนใจในประเด็น ปลาชนิดนี้ถูกจัดเป็น 1 ใน 13 ปลาต่างถิ่นที่กรมไม่อนุญาตให้นำเข้า หากไม่ขออนุญาตอย่างถูกต้อง
เรื่องนี้กรมประมงชี้แจงว่า คณะกรรมการด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (IBC) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้อนุญาตให้บริษัทเอกชนนำปลาหยกมาทดลองเลี้ยงและทดลองตลาดได้ แต่ห้ามเพาะเลี้ยงเพื่อการจำหน่ายเป็นปลามีชีวิตที่เป็นลูกพันธุ์ เพื่อป้องกันการเล็ดลอดออกสู่สิ่งแวดล้อม ที่สำคัญการเลี้ยงต้องอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างใกล้ชิดของเจ้าหน้าที่กรมประมง

งานวิจัยโดย ดร.วันศุกร์ เสนานาญ ภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ชลบุรี และ ผศ.ดร.รัฐชา ชัยชนะ ภาควิชาเทคโนโลยีและการจัดการสิ่งแวดล้อม คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ที่ได้ร่วมกันประเมินความเสี่ยงทางนิเวศของปลาหยก ต่อความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย และสรุปสำหรับผู้บริหาร เสนอต่อ IBC ว่า คะแนนความเสี่ยงต่อการเป็นชนิดพันธุ์รุกรานของปลาชนิดนี้อยู่ใน “ระดับปานกลาง” มีคะแนนเฉลี่ย 7.5 เทียบกับปลาน้ำจืดต่างถิ่นที่รุกรานซึ่งมักจะมีคะแนนมากกว่า 19
ดังนั้น ปลาชนิดนี้อยู่ในเกณฑ์ที่พอจะจัดการความเสี่ยงได้ หากมีการอนุญาตให้เพาะเลี้ยง น่าจะช่วยสร้างความมั่นใจแก่กรมประมง และ IBC จึงอนุญาตให้ทำการทดลองเลี้ยงได้

ส่วนประวัติความเป็นมาของปลาชนิดนี้ น.สพ.ชัย วัชรงค์ นักวิชาการและสื่อสารมวลชน อธิบายไว้อย่างน่าสนใจว่า ปลาหยก เป็นปลาน้ำจืดท้องถิ่นของออสเตรเลียที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ราบลุ่มทะเลสาบ Eyre ที่ผ่านมา มีการนำเข้าปลาหยกเข้าไปในหลายประเทศเพื่อธุรกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อาทิ สหรัฐอเมริกา จีน และมาเลเซีย โดยเฉพาะจีน มีประวัติการนำเข้าปลาชนิดนี้มาอย่างยาวนาน และ “ยังไม่เคยมีรายงาน” ปลาหยกมีการรุกรานในพื้นที่นอกถิ่นที่อยู่เดิม
ที่สำคัญ ปลาชนิดพันธุ์ต่างถิ่น หรือ Alien Species นั้น ไม่ได้หมายถึงปลาที่เป็นอันตรายหรือรุกรานต่อปลาท้องถิ่นเสมอไป โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่เป็นปลารุกราน (Invasive) และ 2.กลุ่มที่เป็นปลาไม่รุกราน (Non– invasive) โดยปลาต่างถิ่นบางชนิดยังช่วยสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้คนไทยด้วย อย่างเช่น “ปลานิล” ที่มีถิ่นกำเนิดจากลุ่มแม่น้ำไนล์ ทวีปแอฟริกา ที่วันนี้กลายเป็นปลาเศรษฐกิจของคนไทยในปัจจุบัน

และเมื่อดูคุณสมบัติของปลาหยกแล้วยิ่งทึ่ง เพราะเป็นปลาน้ำจืด หนังบาง มีเนื้อขาวละเอียดนุ่ม มีปริมาณเนื้อมาก มีชั้นไขมันแทรกพอประมาณ ทำให้เนื้อนุ่มหอมมันกว่าปลาทั่วไป และยังมีกรดไขมันโอเมก้าในปริมาณที่สูงมาก ถือว่าเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีสารอาหารที่ดีต่อร่างกาย อาทิ ไขมันดี มีโอเมก้า 3 สูงกว่าปลาแซลมอนถึง 3 เท่า ช่วยบำรุงสมอง เสริมสร้างความจำ ลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ และความดันสูง
ทั้งยังมี DHA ที่มีส่วนช่วยบำรุงเซลล์ประสาท สมอง และดวงตา เสริมภูมิคุ้มกันให้เด็ก ลดอาการอ่อนล้าจากการทำงาน และมีคอลลาเจนที่ช่วยทำให้ผิวพรรณดี ลดการปวดข้อต่อ และชะลอการสลายของมวลกระดูก
แล้วมันจะพอมีทางที่พัฒนาไปสู่การเลี้ยงเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และสร้างอาชีพให้กับคนไทยเหมือนปลานิลได้บ้างไหม หรือจะปิดตายไปเลย.
ชาติชาย ศิริพัฒน์
คุณกำลังดู: ปลาหยก..ปลาต่างถิ่น อันตรายขนาดไหน?
หมวดหมู่: ภูมิภาค
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- ไข่ไก่ขอนแก่นยังราคาเท่าเดิม ช่วยผู้บริโภค ชี้หน้าฟาร์มขึ้นไม่มาก พอแบกได้
- แตงโมป้าแจ๋ว สิงห์บุรี ปลูกโดยระบบหยดน้ำผสมปุ๋ย ช่วยให้รสชาติหวานหอมชื่นใจ
- คุณตาวัย 72 พลิกดินแห้งแล้งทำสวน ปลูกมะยงชิดขายรายได้ดี เจ้าแรกที่กาบเชิง
- แตงโมแหลมสน จากสวนริมทะเลสตูล รสชาติเยี่ยม ปีนี้ราคาดีเพราะผลผลิตมีน้อย (คลิป)
- พด.ลุยโคราชเยี่ยมศูนย์ถ่ายทอดฯ หนุนจัดการที่ดินตามหลัก ศก.พอเพียง