ราชกิจจานุเบกษา ประกาศระเบียบการสั่งให้ตำรวจไปรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ

ราชกิจจานุเบกษา ประกาศระเบียบ ตร. เรื่องการสั่งให้ตำรวจไปรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ พร้อมระบุคุณสมบัติ และต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการตำรวจไปรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ พ.ศ. 2566 ลงนามโดย พลตำรวจเอกดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ประกาศ ณ วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2566 มีเนื้อหาสาระที่สำคัญ ว่า
ด้วยพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 มาตรา 92 วรรคสอง บัญญัติการสั่งให้ข้าราชการตำรวจไปรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญตามตำแหน่งที่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) กำหนด ให้เป็นไปตามระเบียบที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนด จึงต้องปรับปรุงมาตรการว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยเหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบันและสอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 63 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจึงวางระเบียบไว้ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป และให้ยกเลิกคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 60/2545 เรื่อง มาตรการว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ ลงวันที่ 17 มกราคม 2545 บรรดาระเบียบ คำสั่ง หลักเกณฑ์ หรือแนวทางปฏิบัติที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดเกี่ยวกับการสั่งให้ข้าราชการตำรวจไปปฏิบัติราชการภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติในส่วนที่กำหนดไว้แล้วในระเบียบนี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน
ในระเบียบนี้ “การรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ” หมายถึง การกำหนดแนวทาง แผน และมาตรการต่างๆ เพื่อใช้เป็นหลักการและวิธีการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญของประเทศให้พ้นจากภัยอันตรายทั้งปวง การลดโอกาสในการเข้าทำร้ายของบุคคลต่างๆ และให้สามารถแก้ปัญหา ระงับเหตุ บรรเทาผลร้ายและอุปสรรคต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ ไม่รวมถึงเรื่องการถวายความปลอดภัยต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งมีกฎหมายและระเบียบปฏิบัติอยู่แล้ว ส่วนคำว่า “บุคคลสำคัญ” หมายถึง บุคคลตามตำแหน่งที่ ก.ตร. กำหนด
ทั้งนี้ การร้องขอจะต้องทำเป็นหนังสือ ซึ่งบุคคลสำคัญผู้ร้องขอเป็นผู้ลงนามร้องขอมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติผ่านกองบัญชาการตำรวจสันติบาลตามแบบคำร้องขอ โดยจะระบุตัวข้าราชการตำรวจที่จะไปรักษาความปลอดภัยมิได้ และกรณีบุคคลสำคัญที่ดำรงตำแหน่งเกินกว่า 1 ตำแหน่งตามที่ ก.ตร. กำหนด สามารถร้องขอข้าราชการตำรวจไปรักษาความปลอดภัยได้เพียงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งเท่านั้น
ขณะเดียวกัน ให้กองบัญชาการตำรวจสันติบาลเป็นผู้รับผิดชอบในการพิจารณาจัดข้าราชการตำรวจที่จะไปปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมในตำแหน่ง ความรู้ ความสามารถ และคุณสมบัติของข้าราชการตำรวจที่จะไปรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ โดยต้องสอบถามไปยังหน่วยงานต้นสังกัดของข้าราชการตำรวจที่ได้รับการพิจารณาให้ไปปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญว่ามีเหตุขัดข้องหรือไม่ อย่างไร พร้อมเหตุผล และสมัครใจหรือไม่ แล้วให้หน่วยงานต้นสังกัดแจ้งผลมายังกองบัญชาการตำรวจสันติบาลภายใน 15 วันนับแต่ได้รับเรื่อง เพื่อประมวลเรื่องเสนอผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติพิจารณาสั่งการ
คุณสมบัติข้าราชการตำรวจที่จะไปรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ
- ดำรงตำแหน่งไม่เกินรองสารวัตรหรือตำแหน่งเทียบเท่า
- มีอายุ 25 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 45 ปี
- เป็นผู้ที่สมัครใจจะไปปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ
- ไม่เป็นข้าราชการตำรวจที่สังกัดสถานีตำรวจ เว้นแต่จะมีข้าราชการตำรวจอื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทนในสถานีตำรวจนั้น
- ไม่เป็นผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการในตำแหน่งที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งครั้งแรกยังไม่ครบ 2 ปี
- ไม่เป็นผู้ที่ปฏิบัติราชการในตำแหน่งที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งยังไม่ครบกำหนดเวลาตามเงื่อนไขท้ายคำสั่งบรรจุและแต่งตั้ง หรืออยู่ระหว่างการบรรจุให้ได้รับเงินเดือนตามคุณวุฒิ
- ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งควบปรับระดับเพิ่ม-ลดในตัวเอง
- ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งในกลุ่มสายงานวิชาชีพเฉพาะ
- ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งซึ่งห้ามไปปฏิบัติราชการในหน้าที่อื่นตามระเบียบหรือคำสั่งที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนด
- ไม่เป็นผู้ที่อยู่ระหว่างถูกตั้งกรรมการสอบสวน และไม่อยู่ระหว่างต้องหาคดีอาญา เว้นแต่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
สำหรับการสั่งให้ข้าราชการตำรวจที่ไปรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญนั้น
ให้สั่งได้ครั้งละไม่เกิน 2 คน และระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี
การสิ้นสุดระยะเวลาของข้าราชการตำรวจที่ไปรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ
- เมื่อบุคคลสำคัญผู้ร้องขอเสียชีวิต
- ครบระยะเวลาในการอนุมัติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
- ถูกส่งตัวกลับ หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติเรียกตัวกลับ
- สถานภาพตำแหน่งของบุคคลสำคัญที่ร้องขอเปลี่ยนแปลงไปและไม่เป็นไปตามระเบียบนี้
- เมื่อสถานภาพตำแหน่งหรือสังกัดของข้าราชการตำรวจที่ไปปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยเปลี่ยนแปลงไป
- ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงหรือต้องหาคดีอาญา เว้นแต่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
นอกจากนี้
เมื่อการปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญใกล้สิ้นสุดตามระยะเวลาที่กำหนดและผู้ร้องขอยังมีความจำเป็นต้องการให้มีการรักษาความปลอดภัยต่อ
ให้ผู้ร้องขอนั้นเสนอเรื่องถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติผ่านกองบัญชาการตำรวจสันติบาลก่อนครบกำหนดระยะเวลาไม่น้อยกว่า
30 วัน
ห้ามสั่งให้ไปรักษาความปลอดภัยเป็นครั้งคราวโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาแต่ละครั้งอย่างชัดเจน
เพื่อประโยชน์ในการบังคับบัญชาของหน่วยงานต้นสังกัด
และห้ามสั่งให้ข้าราชการตำรวจไปรักษาความปลอดภัยย้อนหลัง
เมื่อการรักษาความปลอดภัยสิ้นสุดลง
ให้ข้าราชการตำรวจที่ไปรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญรายงานไปยังหน่วยงานต้นสังกัดภายใน
7 วันนับแต่วันที่มีเหตุสิ้นสุด
เมื่อหน่วยงานต้นสังกัดได้รับรายงานเหตุแล้วให้มีคำสั่งให้ข้าราชการตำรวจนั้นกลับมาปฏิบัติหน้าที่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติภายใน
30 วันนับแต่วันที่มีเหตุสิ้นสุด
และให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติรักษาการตามระเบียบนี้
(อ่านราชกิจจานุเบกษาฉบับเต็ม)
คุณกำลังดู: ราชกิจจานุเบกษา ประกาศระเบียบการสั่งให้ตำรวจไปรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ
หมวดหมู่: การเมือง
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- พบขวดยาพิษ ในห้อง "แอม" เพื่อนสงสัยวางยาฆ่าอดีตสามี ไม่เชื่อทำคนเดียว
- โปรดเกล้าฯ เรียกคืน เครื่องราชอิสริยาภรณ์ "สิระ เจนจาคะ" อดีต ส.ส.กทม.
- ราชกิจจานุเบกษา ประกาศเงินค่าตอบแทน อบต. อัตราใหม่แล้ว เริ่มจ่าย 1 ต.ค. 2566
- ราชกิจจาฯ ประกาศ “ฉัตรชัย พรหมเลิศ” นั่งประธาน ปปง. แทน “ปิยะพันธ์ ปิงเมือง”
- ราชกิจจาฯ ประกาศเพิ่มเจ้าพนักงานของรัฐตำแหน่งเหล่านี้ ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน
- “บิ๊กตู่” เซ็นคำสั่งกลาโหม เลื่อนกำหนดปลดทหารกองประจำการที่สมัครใจรับราชการต่อ