สแกนนโยบาย "พรรคก้าวไกล" ชู 7 วาระเปลี่ยนเศรษฐกิจ-สวัสดิการก้าวหน้า

พรรคก้าวไกล ชู “7 วาระเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย” ยกเครื่องภาครัฐ รื้อการจัดทำงบประมาณใหม่ ยัน “สวัสดิการก้าวหน้าตั้งแต่เกิดจนตาย” ดีกว่าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คิดล่วงหน้าไว้แล้วใช้งบปีละ 650,000 ล้านบาทจะหาเงินจากไหน ทั้งรีดไขมันงบ เก็บภาษีความมั่งคั่ง เก็บภาษีที่ดิน และเก็บภาษีบุคคลทุนใหญ่
น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า พรรคก้าวไกลได้เปิดตัวทีมเศรษฐกิจ รวม 7 คน ได้แก่ นายวีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล นายวรภพ วิริยะโรจน์ นายอภิสิทธิ์ ไล่ศัตรูไกล นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร และนายเดชรัต สุขกำเนิด รวมทั้งเสนอนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ ให้ประชาชนพิจารณาในการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศ เพื่อพลิกโฉมประเทศไทยไม่เหมือนเดิม ประกอบด้วย “7 วาระเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย” 1.เปลี่ยนจาก Made in Thailand เป็น Made with Thailand 2.เปิดโอกาส เปิดตลาด SME 3.ทลายทุนผูกขาด ลดค่าครองชีพ 4.Unlock เศรษฐกิจสร้างสรรค์ 5.แปลงข้อมูลเป็นขุมทรัพย์ 6.หยุดแช่แข็งชนบทไทย 7.ยกเครื่องภาครัฐ นำเศรษฐกิจไทยก้าวหน้า
“นโยบายเศรษฐกิจต้องการสร้างเศรษฐกิจไทยให้เติบโตแบบเป็นธรรม มี 3 เรื่องหลัก ได้แก่ การสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจให้มั่นคง การสร้างกลไกภาครัฐและกติกาการแข่งขันที่เป็นธรรม และการผลักดันเครื่องจักรเศรษฐกิจตัวใหม่ๆ ที่เติบโตไปพร้อมกับซัพพลายเชนโลก โดยนโยบายเศรษฐกิจทั้งหมดนี้จะทำเป็นจริงได้ จะต้องมีการยกเครื่องระบบราชการและวิธีการจัดทำงบประมาณครั้งใหญ่ โดยงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่รัฐบาลชุดนี้จัดทำไว้ หากพรรคก้าวไกลเข้ามาเป็นรัฐบาลจะขอรื้อใหม่ทั้งหมด”
สวัสดิการก้าวหน้าตั้งแต่เกิดจนตาย
สำหรับนโยบายที่เป็นไฮไลต์ของพรรค คือ สวัสดิการก้าวหน้าตั้งแต่เกิดจนตาย ต้องใช้งบประมาณมาดำเนินการ วงเงิน 650,000 ล้านบาท น.ส.ศิริกัญญายืนยันว่า เป็นนโยบายที่ครบถ้วนมากกว่าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพราะไม่ต้องมีการพิสูจน์รายได้ของครัวเรือน เนื่องจากที่ผ่านมามีคนที่จนจริงๆตกหล่นกว่า 46% ไม่ได้รับบัตรสวัสดิการของรัฐ ขณะที่สวัสดิการถ้วนหน้าตั้งแต่เกิดจนตาย จะให้การช่วยเหลือถึงเป้าหมายได้จริง
ตัวอย่าง เช่น ให้ของขวัญแรกเกิดถึง 6 ขวบ คนละ 3,000 บาท ใช้งบประมาณ 2,100 ล้านบาท ให้เงินเลี้ยงดูเด็กเล็กคนละ 1,200 บาทต่อเดือน ใช้งบประมาณ 32,000 ล้านบาท และให้แม่ลาคลอดได้ 6 เดือน โดยได้เงินช่วยเหลือจากกองทุนประกันสังคม 5,000 บาทต่อเดือน ซึ่งตรงนี้ต้องแก้ไขระบบของกองทุนประกันสังคม พร้อมกับจัดทำประกันสังคมถ้วนหน้า เจ็บป่วยได้เงินชดเชย ได้ค่าเดินทางหาหมอ โดยให้ทุกคนจ่ายเงินสมทบเพื่อเข้าสู่ระบบประกันสังคม มาตรา 40 ส่วนใครที่ไม่มีกำลังจ่ายเองได้ รัฐบาลจะจัดสรรงบจ่ายให้แทน ตั้งวงเงินไว้ปีละ 35,000 ล้านบาท ด้านเด็กได้เรียนฟรี อาหารฟรี มีรถรับส่ง ใช้งบประมาณ 33,000 ล้านบาท
สำหรับค่าแรงขั้นต่ำจะปรับขึ้นทุกปี เริ่มต้นวันละ 450 บาท โดยรัฐเข้าไปช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีใน 6 เดือนแรก ใช้งบประมาณ 16,000 ล้านบาท ผู้สูงวัยได้เงินเดือนละ 3,000 บาท และสร้างระบบดูแลผู้ป่วยติดเตียง ใช้งบ 420,000 ล้านบาท คนพิการได้เดือนละ 3,000 บาท ใช้งบ 72,000 ล้านบาท นอกจากนี้มีโครงการบ้านตั้งตัว โดยรัฐช่วยค่าเช่าบ้าน 1,000 บาทต่อเดือน ส่วนผู้ที่มีรายได้ 15,000 บาท และต้องการซื้อบ้านในราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท รัฐจะช่วยผ่อนบ้านให้ 2,500 บาทต่อเดือน รวม 350,000 หลัง ใช้งบ 6,000 ล้านบาท เป็นต้น
วิธีหางบประมาณให้การคลังสมดุล
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า นโยบายนี้ต้องใช้งบประมาณปีละ 650,000 ล้านบาทเพราะต้องการปฏิรูปประเทศ คนกังวลกันมากว่าจะเป็นภาระทางการคลัง ซึ่งได้มองไว้แล้วว่าต้องทำให้เกิดความสมดุลทางการคลัง ฉะนั้นการจัดสรรงบจะต้องไปรีดไขมันจากงบประมาณรายจ่าย ซึ่งจากวงเงินงบประมาณปีละกว่า 3 ล้านล้านบาทตัดลดโครงการที่ไม่จำเป็นลงได้ 100,000 ล้านบาท ก็ตรงกับที่ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณพูดเองว่าตัดได้
“การลดขนาดกองทัพลง 30-40% และเรียกคืนธุรกิจกองทัพมาให้กระทรวงการคลังบริหารจะได้เงิน 50,000 ล้านบาท เพราะงบที่กระทรวงกลาโหมได้รับปีละร่วม 200,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายกำลังพลที่มีจำนวนมาก ส่วนเงินซื้ออาวุธปีละ 30,000 ล้านบาทเท่านั้น ด้านการเรียกคืนธุรกิจ เช่น สนามกอล์ฟ การที่ให้กระทรวงการคลังเอามาบริหารจะสร้างรายได้ได้มากขึ้นและยังคงให้เป็นสวัสดิการของทหารอยู่”
ขณะเดียวกัน งบกลางฯก็ตัดลดลงได้ 30,000 ล้านบาท และนำรายได้จากเงินปันผลรัฐวิสาหกิจ 30,000 ล้านบาท ส่วนงบที่จะมาใหม่มาเพิ่ม ได้แก่ การเก็บภาษีความมั่งคั่งกับคนที่มีทรัพย์สินเกิน 300 ล้านบาท จะมีรายได้ใหม่ 60,000 ล้านบาท เก็บภาษีที่ดินรายแปลงและรวมแปลง 150,000 ล้านบาท เก็บภาษีบุคคลทุนใหญ่ 92,000 ล้านบาท การปฏิรูปสิทธิประโยชน์บีโอไอ 8,000 ล้านบาท การเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บภาษี 100,000 ล้านบาท และหวยบนดิน 50,000 ล้านบาท
ประกาศวาระหยุดแช่แข็งชนบทไทย
ด้านนายเดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) กล่าวว่า พรรคก้าวไกลขอประกาศวาระหยุดแช่แข็งชนบทไทย โดยเข้าไปบริหารจัดการเพื่อให้เกษตรกรมีสวัสดิการและความมั่นคงในที่ดิน แก้ปัญหาหนี้สินและจัดหาแหล่งน้ำ โดยให้จัดตั้งกองทุนพิสูจน์สิทธิ วงเงิน 10,000 ล้านบาทและรับรองสิทธิในที่ดินทำกิน 10 ล้านบาท เปลี่ยนที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิเป็นโฉนด สำหรับเกษตรกรที่มีทรัพย์สินไม่เกิน 10 ล้านบาท รายละไม่เกิน 50 ไร่ เพื่อให้เป็นเกษตรกรรายย่อยจริงๆ ซึ่งต้องถือครองต่อไปไม่น้อยกว่า 10 ปี ตั้งเป้า 1 ล้านครัวเรือนมีสิทธิถือครองที่ดินภายใน 5 ปี
ส่วนการปลดล็อกหนี้สิน มีให้ 3 ตัวเลือก ส่วนแรกเกษตรกรที่อายุ 60 ปีขึ้นไป หากชำระหนี้ได้ครึ่งหนึ่งรัฐจะช่วยสมทบอีกครึ่ง หากไม่มีความสามารถชำระหนี้ รัฐก็จะยื่นทางเลือกที่สองให้ โดยการเช่าที่ดินเกษตรกรเพื่อปลูกไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าอย่างน้อย 20 ปี ซึ่งเกษตรกรจะได้รับการปลดหนี้ตั้งแต่ครั้งแรกที่เข้าร่วมโครงการ ส่วนกรณีที่ไม่มีเงินและที่ดิน รัฐจะเข้าไปติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ด้วยการแบ่งรายได้ โดยรัฐจัดเก็บรายได้ในค่าลงทุนติดตั้งและส่วนที่เหลือเจ้าของพื้นที่เอาไปชำระเงินต้น ตั้งเป้าภายใน 5 ปี สามารถชำระหนี้ได้หมด และรัฐจะฝากโซลาร์เซลล์ไว้ต่อ 5-10 ปี จะสามารถคืนทุนได้ โดยปีแรกจะเริ่มต้นกับผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป เพื่อที่จะให้หมดหนี้ภายในปีแรก เป็นต้น.
คุณกำลังดู: สแกนนโยบาย "พรรคก้าวไกล" ชู 7 วาระเปลี่ยนเศรษฐกิจ-สวัสดิการก้าวหน้า
หมวดหมู่: ข่าวเศรษฐกิจ/ธุรกิจ