สธ.เข้มจับตา “ไวรัสมาร์บวร์ก” อัตราตายสูง ยังไม่มีวัคซีน-ยาต้านไวรัสรักษา
ก.สาธารณสุข เฝ้าติดตามใกล้ชิด “ไวรัสมาร์บวร์ก” ในอิเควทอเรียลกินี แอฟริกากลาง พบอัตราตายสูง ติดต่อทางเลือดและอุจจาระ เหมือนอีโบลา ยังไม่มีวัคซีนหรือยาต้านไวรัส รักษาแบบประคับประคองตามอาการ

ก.สาธารณสุข เฝ้าติดตามใกล้ชิด “ไวรัสมาร์บวร์ก” ในอิเควทอเรียลกินี แอฟริกากลาง พบอัตราตายสูง ติดต่อทางเลือดและอุจจาระ เหมือนอีโบล่า ยังไม่มีวัคซีนหรือยาต้านไวรัส รักษาแบบประคับประคองตามอาการ
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในวันนี้ (16 กุมภาพันธ์ 2566) ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก (Marburg virus disease) ในประเทศอิเควทอเรียลกินี (Equatorial Guinea) ในแอฟริกากลาง ที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 9 ราย โดยได้รับรายงานว่าผู้เสียชีวิตทั้งหมดมีอาการติดเชื้อรุนแรง เป็นไข้และอาเจียนเป็นเลือด อีกทั้งยังมีผู้ป่วยสงสัยอีก 16 ราย ส่วนใหญ่มีอาการไข้ อ่อนเพลีย อาเจียนเป็นเลือดและท้องเสีย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังสอบสวนโรคเพิ่มเติม และองค์การอนามัยโลก (WHO) ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญไปสอบสวนโรคในเขตพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อติดตามแยกกักผู้สัมผัส และให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่แสดงอาการ รวมถึงบริหารสถานการณ์ตอบโต้ภาวะฉุกเฉินเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้าง
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุต่อไปว่า โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก เป็นโรคที่มีความรุนแรงสูง ประเทศไทยกำหนดให้เป็น 1 ใน13 โรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มีอัตราการป่วยเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 88 เป็นไวรัสในสกุลเดียวกับไวรัสอีโบลา คือ Filoviridae
สำหรับอาการของโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง หลายรายมีเลือดออกและอุจจาระร่วงอย่างรุนแรง สามารถติดต่อได้ทางเลือดและอุจจาระเช่นเดียวกับไวรัสอีโบลา พบไวรัสในค้างคาวและแพร่เชื้อมาสู่คน นอกจากนี้ ยังติดต่อได้ผ่านการสัมผัสโดยตรงกับเลือดและสารคัดหลั่งจากร่างกายผู้ติดเชื้อ หรือสัมผัสเชื้อไวรัสที่ปนเปื้อนบนพื้นผิววัสดุต่างๆ ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนหรือยาต้านไวรัสที่รักษาโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์กได้ จะให้การรักษาเป็นแบบประคับประคองตามอาการ

ทางด้าน นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ขณะนี้ไทยยังไม่พบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก แต่ปัจจุบันมีการเดินทางจากประเทศต่างๆ มายังไทยเพิ่มขึ้น กรมควบคุมโรคจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดจากองค์การอนามัยโลกและหน่วยงานอื่นๆ เพื่อวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง โดยยังไม่มีการประกาศห้ามการเดินทาง แต่เน้นมาตรการคัดกรองผู้เดินทางจากประเทศอิเควทอเรียลกินี และประเทศใกล้เคียง
ล่าสุดมีรายงานข่าวพบผู้ป่วยสงสัยเพิ่ม2 ราย บริเวณชายแดนประเทศแคเมอรูน ติดกับพื้นที่ระบาดในประเทศอิเควทอเรียลกินี จึงเพิ่มระดับการเตรียมความพร้อมระบบการเฝ้าระวังและคัดกรองที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศทุกแห่ง ตลอดจนแจ้งสถานบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ หากพบผู้ป่วยสงสัยให้เก็บตัวอย่างส่งตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการและรายงานผู้ป่วยที่สงสัยภายใน 3 ชั่วโมง และหากประชาชนพบผู้ที่สงสัยโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก ให้แจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรคหมายเลข 1422
คุณกำลังดู: สธ.เข้มจับตา “ไวรัสมาร์บวร์ก” อัตราตายสูง ยังไม่มีวัคซีน-ยาต้านไวรัสรักษา
หมวดหมู่: ต่างประเทศ
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- กรมควบคุมโรคแนะคัดกรองเบาหวาน ความดัน
- กรมควบคุมโรคร่อนหนังสืองดตรวจเอชไอวีก่อนเข้าทำงาน
- ถกด่วน ร่างพระราชกฤษฎีกาใช้งบสร้างเสริมสุขภาพ
- 16 ข้อควรรู้ "ไวรัสมาร์บวร์ก" อันตรายแค่ไหน ประชาชนควรกังวลหรือไม่
- แคเมอรูนผวาไวรัสมาร์บวร์ก พบผู้ต้องสงสัยติดเชื้อแล้ว 2 ราย
- จับตาโรคระบาด ไวรัสมาร์บวร์ก อันตรายกว่าโควิด ร้อยละ 88 เสียชีวิต แอฟริกาตะวันตก (คลิป)