ทำไมรบ.ฝรั่งเศสกล้าเสี่ยง ผลักดันแผนปฏิรูปบำนาญ จุดม็อบต้านทั่วประเทศ

ประธานาธิบดีมาครงกำลังเผชิญหน้ากับการประท้วงอย่างหนัก คัดค้านแผนปฏิรูประบบบำนาญที่รัฐบาลได้ประกาศผลักดันในเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้นปี 2566 ขยายอายุคนวัยเกษียณจาก 62 ปี เป็น 64 ปี

ทำไมรบ.ฝรั่งเศสกล้าเสี่ยง ผลักดันแผนปฏิรูปบำนาญ จุดม็อบต้านทั่วประเทศ
  • รัฐบาลฝรั่งเศส ภายใต้การนำของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงกำลังเผชิญหน้ากับการประท้วงอย่างหนัก คัดค้านแผนปฏิรูประบบบำนาญที่รัฐบาลได้ประกาศผลักดันในเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้นปี 2566
  • สาระสำคัญของแผนปฏิรูประบบบำนาญของมาครง คือการขยายอายุคนวัยเกษียณออกไปอีก 2 ปี จาก 62 ปี เป็น 64 ปี อีกทั้งคนวัยทำงานจะต้องจ่ายเงินสมทบบำนาญ เพิ่มขึ้นจาก 42 ปี มาเป็น 43 ปี เพื่อให้ได้รับเงินบำนาญเต็มจำนวน
  • ทำไมมาครงจึงกล้าเสี่ยง ผลักดันแผนปฏิรูประบบบำนาญในฝรั่งเศส ถึงขนาดมอบหมายให้นายกฯ ประกาศใช้อำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้โดยไม่ต้องผ่านสภา แม้จะรู้ดีว่าจะเจอกับการประท้วงต่อต้านจากชาวฝรั่งเศสจำนวนมากและพรรคฝ่ายค้านก็ตาม

การประท้วงครั้งใหญ่ในฝรั่งเศสคัดค้านแผนปฏิรูประบบบำนาญของรัฐบาลประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงยังดำเนินต่อไปอย่างดุเดือด หลังจากสหภาพแรงงานและชาวฝรั่งเศสนับล้านคนได้เริ่มออกมาประท้วงต่อต้านอย่างหนักในกรุงปารีสและหลายเมืองทั่วประเทศตั้งแต่ ม.ค. 2566

บรรดาผู้ประท้วงยิ่งโกรธรัฐบาลประธานาธิบดีมาครงมากขึ้น ที่มอบหมายให้เอลิซาเบธ บอร์น นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสชิงประกาศใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 49.3 ตามรัฐธรรมนูญในฝรั่งเศสผ่านกฎหมายปฏิรูประบบเงินบำนาญ โดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่กำลังเตรียมจะเปิดการประชุมสภาเพื่อลงมติร่างกฎหมายนี้เมื่อกลางเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา

ทำไมรัฐบาลประธานาธิบดีมาครงจึงยอมเสี่ยงสูญเสียความนิยมกับการเดินหน้าผลักดันในเรื่องนี้ จนทำให้ถูกประท้วงอย่างหนัก และทางพรรคฝ่ายค้านในฝรั่งเศสถึงกับจะยื่นญัตติไม่ไว้วางใจมาครงกันเลยทีเดียว?

'มาครง' เคยรับปากไว้ตั้งแต่ตอนหาเสียงปธน.สมัยที่ 2

หากย้อนกลับไปตั้งแต่ต้นปี เดือนมกราคม 2566 ชาวฝรั่งเศสนับล้านคน และบรรดาสหภาพแรงงานในฝรั่งเศสได้ลุกฮือออกมาประท้วงตามท้องถนนในกรุงปารีส เมื่อประธานาธิบดีมาครงเดินหน้าผลักดันแผนปฏิรูประบบบำนาญที่เขาเคยรับปากไว้ ตั้งแต่ตอนหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 เมื่อปี 2565

มารีน เลอเปน นั่งกอดอกอย่างเคร่งเครียด หลังรัฐบาลประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง อาศัยอำนาจตามมาตรา 49.3 ในรัฐธรรมนูญ ชิงผ่านกฎหมายปฏิรูประบบบำนาญ โดยไม่ต้องผ่านการลงมติเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร เมื่อกลางเดือนมีนาคม 2566
มารีน เลอเปน นั่งกอดอกอย่างเคร่งเครียด หลังรัฐบาลประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง อาศัยอำนาจตามมาตรา 49.3 ในรัฐธรรมนูญ ชิงผ่านกฎหมายปฏิรูประบบบำนาญ โดยไม่ต้องผ่านการลงมติเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร เมื่อกลางเดือนมีนาคม 2566

มาครงสามารถคว้าชัยชนะเหนือมารีน เลอเปน คู่แข่งคนสำคัญจากพรรคฝ่ายขวาจัด Rassemblement National (National Rally, RN) ในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบสอง ได้ครองตำแหน่งผู้นำฝรั่งเศสต่อ จนสร้างประวัติศาสตร์เป็นประธานาธิบดีคนแรกของฝรั่งเศสที่คว้าชัยเลือกตั้งได้ดำรงตำแหน่งต่อเป็นสมัยที่ 2 นับตั้งแต่ฌัก ชีรัก เคยทำได้ในปีพ.ศ. 2545

ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส
ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส

สาระสำคัญแผนปฏิรูปบำนาญของมาครง จนโดนต้านหนัก

สาระสำคัญของแผนปฏิรูประบบบำนาญของรัฐบาลมาครง ได้แก่ การขยายอายุเกษียณออกไปอีก 2 ปี จาก 62 ปี เป็น 64 ปี โดยเสนอจะเพิ่มบำนาญขั้นต่ำให้จากเดิม 1,000 ยูโรต่อเดือน (ประมาณ 37,000 บาท) เป็น 1,200 ยูโรต่อเดือน (ประมาณ 44,000 บาท) คิดในอัตราแลกเปลี่ยน 1 ยูโร เท่ากับ 37 บาท

นอกจากนั้น คนวัยทำงานจะต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้นจาก 42ปี มาเป็น 43 ปี เพื่อให้ได้รับเงินบำนาญเต็มจำนวน

รัฐบาลมาครงยืนยันว่าแผนปฏิรูประบบบำนาญนี้จะเป็นการการันตี รับประกันว่าจะได้รับเงินบำนาญต่ำสุดไม่น้อยกว่า 85% ของเงินเดือนเฉลี่ยต่ำสุด

ชาวฝรั่งเศสออกมาประท้วงคัดค้านแผนปฏิรูประบบบำนาญของรัฐบาลประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง
ชาวฝรั่งเศสออกมาประท้วงคัดค้านแผนปฏิรูประบบบำนาญของรัฐบาลประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง

อย่างไรก็ตาม สหภาพแรงงาน และคนวัยทำงานทั่วประเทศ รวมทั้งภาคคมนาคมขนส่ง รถไฟ รถไฟฟ้า การท่าเรือ พลังงาน ครู ได้ออกมาประท้วงต่อต้านแผนปฏิรูประบบบำนาญของรัฐบาลมาครงอย่างหนัก และสร้างปรากฏการณ์การประท้วงในฝรั่งเศสเมื่อสหภาพแรงงานทั้งหมดในประเทศได้ออกมาประท้วงและเรียกร้องให้รัฐบาลมาครงยอมถอย ทบทวนในเรื่องนี้

ทำไมต้องปฏิรูประบบบำนาญในฝรั่งเศส

เป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศส่วนใหญ่ รวมทั้งฝรั่งเศส กำลังประสบปัญหาอัตราการเกิดต่ำ สวนทางกับจำนวนประชากรที่เข้าสู่วัยผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้รายรับเข้ากองทุนบำนาญ ไม่สมดุลกับรายจ่ายให้แก่คนในวัยเกษียณ

รัฐบาลฝรั่งเศสชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงอายุคนวัยเกษียณออกไปจาก 62 ปี เป็น 64 ปี จะทำให้มีรายได้เข้างบประมาณเกษียณในฝรั่งเศส ปีละ 17.7 พันล้านยูโร (ราว 18.8 พันล้านดอลลาร์) ต่อปีในปี 2030

นาย Olivier Dussopt รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานของฝรั่งเศส ชี้ว่า หากไม่มีการดำเนินการแก้ปัญหาการขาดดุลงบบำนาญโดยทันทีแล้วล่ะก็ จะทำให้เกิดการขาดดุลงบบำนาญในฝรั่งเศส พุ่งกว่า 13,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 4.4 แสนล้านบาทในปี ค.ศ. 2027

ขณะที่ รัฐบาลมาครงซึ่งได้แผนปฏิรูปบำนาญเมื่อเดือนมกราคม ที่ผ่านมาระบุว่า การปฏิรูปบำนาญจะเป็นการบาลานซ์ หรือสร้างสมดุลของการขาดดุลงบประมาณบำนาญในปี 2030

‘ถ้าเราไม่ปฏิรูประบบบำนาญในวันนี้ เราจะต้องใช้มาตรการที่โหดกว่านี้ในอนาคต’ Gabriel Attal รัฐมนตรีว่าการกระทรวงงบประมาณของฝรั่งเศส ให้เหตุผลที่ทำไมรัฐบาลจึงต้องผลักดันแผนปฏิรูประบบบำนาญ แม้จะเผชิญกับการประท้วงต่อต้านทั่วประเทศและถึงขั้นตำรวจปราบจลาจลต้องใช้แก๊สน้ำตาควบคุมฝูงชน.

ผู้เขียน : อรัญญา ศรีจันทรนิตย์

ที่มา : TheGuardian, CNN,Aljazeera

คุณกำลังดู: ทำไมรบ.ฝรั่งเศสกล้าเสี่ยง ผลักดันแผนปฏิรูปบำนาญ จุดม็อบต้านทั่วประเทศ

หมวดหมู่: ต่างประเทศ

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด