วช.จับมือ 3 มหาวิทยาลัยเหนือ ต่อยอดนวัตกรรม..ผ้าใยกัญชง

หัตถกรรมการทอผ้าจากใยกัญชงของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมส่งเสริมคุณค่าทางภูมิปัญญาที่สืบทอดมาแต่โบราณ
แต่รูปแบบการปั่นเส้นใยและการทอ รวมถึงตัวผลิตภัณฑ์ยังเป็นแบบดั้งเดิม ทำให้ผ้าทอแต่ละผืนใช้เวลาค่อนข้างนาน ขณะที่ใบกัญชงและเศษเหลือทิ้งใช้ประโยชน์แค่ทำปุ๋ยหมักเพียงอย่างเดียว ชาวบ้านยังขาดเทคโนโลยีในการทำปุ๋ยให้ได้ประ สิทธิภาพ รวมถึงช่องทางจำหน่ายที่มีปัญหา

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงให้ทุนตามโครงการวิจัยภายใต้หัวข้อ “การต่อยอดองค์ความรู้สู่นวัตกรรมผลิตภัณฑ์กัญชงด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่” แก่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนอร์ท เชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้
“กว่าจะได้เส้นใยกัญชงมีขั้นตอนค่อนข้างเยอะอยู่แล้ว ตั้งแต่ปลูก เก็บเกี่ยว ตากอีก 2 อาทิตย์ ผึ่งลม ปั่น ต้มอีก 30 ชม.เป็นอย่างน้อย ซัก แล้วรีดให้เป็นเส้น สาว ย้อมสีธรรมชาติ ซ้ำยังต้องปั่นด้วยมือตลอด ทำให้คนที่ทำเส้นใยแทบไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่น ยังไม่รวมถึงการทอขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ รูปแบบก็เป็นแบบเดิมๆ ไม่ทันสมัย ขณะที่ชาวบ้านก็ขายไม่เป็น ทำให้อาชีพนี้ เริ่มถูกลืมเลือนไป นักวิจัยที่ได้รับทุนจาก วช.จึงเข้ามาช่วย ทั้งออกแบบเครื่องปั่น เครื่องทอ เครื่องทำปุ๋ย อกกแบบผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัยขึ้น รวมถึงเพิ่มช่องทางการขายผ่านสื่อโซเชียล”

ธัญพร ถนอมวรกุล ประธานวิสาหกิจชุมชน ดาวม่าง งานผ้าใยกัญชง บ้านแม่สาน้อย ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ครูช่างศิลปหัตถกรรม ประเภทสิ่งทอ ประจำปี 2564 โดยสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์กรมหาชน) เล่าถึงความร่วมมือของหลายหน่วยงาน จนทำให้ชาวบ้านสมาชิกทั้ง 18 คน ลดระยะเวลาทำผ้าใยกัญชงไปได้เท่าตัว
เป็นการนำภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้านมาประยุกต์ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องปั่นด้ายที่เพิ่มในเรื่องของมอเตอร์ ทำให้ใช้เวลาทำรวดเร็วขึ้น ที่สำคัญเดิมการปั่นต้องทำด้วยมือและต้องทำครั้งเดียวจนจบขั้นตอน แต่เมื่อมีเครื่องปั่น เมื่อเริ่มทำแล้วสามารถเอาเวลาไปทำอย่างอื่นได้ ทำให้เพิ่มกำลังการผลิตเส้นใยได้ 7-8 เท่าตัว

นอกจากนี้ ยังช่วยพัฒนานวัตกรรมเครื่องทอผ้าใยกัญชง ทดแทนการทอผ้าแบบดั้งเดิม โดยนำองค์ความรู้มาถ่ายทอดแก่วิสาหกิจชุมชน พัฒนาสู่การออกแบบผลิตภัณฑ์ ผ้าใยกัญชงในรูปแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ชุดเดรสใยกัญชง เสื้อเอวลอยผ้าใยกัญชงเขียนเทียนตกแต่งลาย ปักม้ง เสื้อคลุมใยกัญชงจากสีธรรมชาติ หมวกใยกัญชง กระเป๋าปักลวดลาย เป็นต้น
นอกจากนี้ เศษวัตถุดิบเหลือทิ้งจากกัญชง ยังถูกนำมาพัฒนาให้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ สู่การจัดการขยะชุมชนให้เป็นศูนย์ โดยทีมวิจัยได้ออกแบบเครื่องทำปุ๋ยอินทรีย์ให้เหมาะสมกับพื้นที่ มีระบบเซฟตี้ ชาวบ้านสามารถลงมือทำเองได้ง่าย ใช้วัตถุดิบเหลือทิ้งอื่นในท้องถิ่นมาประยุกต์ได้ ที่สำคัญเป็นเทคโนโลยีที่ใช้วัตถุดิบเช่นใบกัญชงมาผสมกับหัวเชื้อจุลินทรีย์ มีใบพัดผสมให้คลุกเคล้ากันตลอด สามารถนำหัวเชื้อมาต่อเชื้อใช้ต่อไปได้ ทำให้ได้ปุ๋ยผสมจุลินทรีย์ที่มีคุณภาพ ใช้เวลาทำแค่วันเดียว โดยวัตถุดิบ 3 กก. ผลิตปุ๋ยได้ 1 กก.

สนใจผลิตภัณฑ์จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนดาวม่าง งานผ้าใยกัญชง สามารถสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ ผ่าน Facebook : ดาวม่าง เสื้อผ้าแฟชั่น เสื้อผ้าชนเผ่า ผ้าใยกัญชง หรือทาง Line : 0811621722.

กรวัฒน์ วีนิล
คุณกำลังดู: วช.จับมือ 3 มหาวิทยาลัยเหนือ ต่อยอดนวัตกรรม..ผ้าใยกัญชง
หมวดหมู่: ภูมิภาค