"วิกฤติฝุ่นพิษ" คุกคาม กทม. กำชับเข้มมาตรการลดฝุ่น-ดูแนวทางแก้ระยะยาว

- ทั่วไทยวิกฤติจมฝุ่นพิษ PM 2.5 กทม.หนักมากเผชิญฝุ่นอ่วมเกินค่ามาตรฐาน เตือนสภาพอากาศปิดแนวโน้มฝุ่นสูงขึ้น เข้ม 10 มาตรการลดฝุ่น กำชับหน่วยงานปฏิบัติตามแผนเคร่งครัด เล็งแก้ไขปัญหาระยะยาว
วิกฤติฝุ่นพิษ "PM 2.5" กำลังคุกคามหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคอีสาน รวมทั้ง "กรุงเทพมหานคร" ซึ่งช่วงนี้ กทม.กำลังเผชิญกับค่าฝุ่นพิษเกินมาตรฐาน และกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีสาเหตุมาจากสภาพอากาศที่ปิดและลมต่ำมาก จึงทำให้ฝุ่นหมุนเวียนใน กทม. ไม่ได้ระบายออก โดยต้นกำเนิดฝุ่นมีหลายปัจจัย ทั้งในพื้นที่ เช่น มลพิษจากรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม และนอกพื้นที่ เช่น การเผาภาคเกษตรและไฟป่า ท่ามกลางสภาวะอากาศ "ฝาชีครอบต่ำ" จึงทำให้สถานการณ์ฝุ่นพิษใน กทม. ค่อนข้างกระทบต่อสุขภาพประชาชนในพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ !!!

ฝุ่น PM 2.5 ใน กทม.มาจากไหน ?
จากประเด็นดังกล่าวจะเห็นว่า ปัญหาฝุ่นพิษใน กทม. ส่วนหนึ่งเกิดจากการเผาในพื้นที่โดยรอบ ซึ่งสามารถเช็กได้จากการเผา โดยดูผลจากกระแสลม หากเป็นลมทางใต้ที่พัดจากอ่าวไทย ฝุ่นก็จะไม่ถูกพัดไปกองรวมใน กทม. แต่เมื่อเจอลมตะวันออกเฉียงเหนือหรือลมเฉียงใต้พัดลงมา ก็จะส่งผลให้ฝุ่นถูกพัดมารวมกันใน กทม. และมีสภาพนิ่งจนเกิดการสะสมจนกระทบต่อสุขภาพ
อย่างไรก็ตามเมื่อเจาะลึกลงไปในรายละเอียดแล้วจะพบว่า ปัญหาฝุ่นใน กทม. จำแนกได้หลักๆ ดังนี้ 51% มาจากรถยนต์-รถบรรทุก (โดยเฉพาะรถที่ใช้เชื้อเพลิงเป็นน้ำมันดีเซล), 21% มาจากโรงงานอุตสาหกรรม, 10% มาจากครัวเรือน, 6% มาจากการเผาในที่โล่ง, 1% มาจากการเกษตรกรรม, 1% มาจากพลังงาน, 0.5% มาจากการจัดการขยะ, และ 9.5% มาจากอื่นๆ

พบค่าฝุ่นพิษพุ่งเกินมาตรฐาน 36 พื้นที่
โดยศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานคร ประจำวันศุกร์ที่ 10 มี.ค.2566 ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) โดยตรวจวัดได้ 37-66 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) พบว่า เกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จำนวน 36 พื้นที่เขต ดังนี้
เขตบึงกุ่ม เขตสาทร เขตหนองจอก เขตหลักสี่ เขตคลองสามวา เขตบางซื่อ เขตบางนา เขตจตุจักร เขตประเวศ เขตสัมพันธวงศ์ เขตบางเขน เขตลาดกระบัง เขตมีนบุรี เขตปทุมวัน เขตคลองเตย เขตสายไหม เขตบางกอกน้อย เขตคันนายาว เขตวังทองหลาง เขตดอนเมือง เขตบางพลัด เขตบางกอกใหญ่ เขตหนองจอก เขตทวีวัฒนา เขตพระนคร เขตบึงกุ่ม เขตหนองแขม เขตยานนาวา เขตดอนเมือง เขตบางรัก เขตลาดกระบัง เขตคลองสาน เขตดุสิต เขตตลิ่งชัน เขตทวีวัฒนา และเขตพญาไท
อย่างไรก็ตาม วันที่ 10 มี.ค.2566 พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อาจมีแนวโน้มฝุ่นละอองขึ้นสูงได้ในบางพื้นที่ โดยหลังวันที่ 11 มี.ค.2566 เป็นต้นไป สถานการณ์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากลมทางใต้ช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่ แต่ช่วงระหว่างวันที่ 14-16 มี.ค.2566 เป็นช่วงที่ควรเฝ้าระวังของพื้นที่ เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองข้ามพื้นที่ได้

กำชับเข้มมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5
ด้าน นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัด กทม. ลงนามหนังสือถึงหน่วยงานในสังกัด กทม.กำชับให้ปฏิบัติตามมาตรการเพื่อควบคุมฝุ่นละอองอย่างเคร่งครัด หลังสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ กทม. เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มความเข้มงวดดำเนินมาตรการ ตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2566 รวม 10 มาตรการ อาทิ เข้มงวดตรวจวัด ตรวจจับรถยนต์ควันดำทุกประเภท ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประสานสถานีตำรวจท้องที่อำนวยการจราจรและกวดขันห้ามจอดรถในถนนสายหลักสายรองตลอดเวลา ขอความร่วมมือทำงานแบบ WFH ใช้รถเท่าที่จำเป็นเพื่อควบคุมสถานประกอบกิจการในพื้นที่ เพื่อไม่ให้ปล่อยมลพิษอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ขอความร่วมมือผู้ประกอบการทำบิ๊กคลีนนิ่ง บริเวณสถานที่ก่อสร้างและแพลนต์ปูนงดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองจากการก่อสร้างทุกประเภท เข้มงวดตรวจตราควบคุมไม่ให้มีการเผาขยะ หรือการเผาในที่โล่งทุกประเภท หากประชาชนเห็นแหล่งกำเนิดมลพิษ แจ้งเบาะแสผ่านแอปพลิเคชันTraffy Fondue

กทม. ขอร่วมมือหลายภาคส่วน แก้ปัญหาระยะยาว
ขณะที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงมาตรการป้องกันฝุ่น PM 2.5 ว่า ต้องแก้ไขปัญหาระยะยาว โดยร่วมมือกับหลายภาคส่วน ประกอบกับควบคุมการเผาชีวมวล ทุกหน่วยงานที่ถือแผนวาระแห่งชาติ ต้องปฏิบัติตามแผนอย่างเต็มที่ กทม. จะดูแหล่งกำเนิด 3 ส่วน คือ รถยนต์ สภาพอากาศ การเผาชีวมวล หากพบมีฝุ่นระดับสีส้ม 3 วันติดต่อกัน สำนักสิ่งแวดล้อมจะประกาศขอความร่วมมือเวิร์กฟรอมโฮม ทั้งนี้ หากจะลดมลพิษจากควันรถยนต์อาจต้องใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น รวมถึงเปลี่ยนเครื่องยนต์ให้มีคุณภาพมากขึ้น เก็บภาษีรถยนต์เก่ามากขึ้น ต้องศึกษาเพิ่มเติมว่าการที่เมืองมีความร้อนสูง มีผลต่อสภาพความกดอากาศและก่อฝุ่น PM 2.5 ด้วยหรือไม่

ห่วงกลุ่มเปราะบาง แนะปรึกษาที่คลินิกมลพิษทางอากาศ รพ. 6 แห่ง สังกัด กทม.
ส่วนกลุ่มที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ กลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุในชุมชน ที่ผ่านมา กทม. ได้มีการนำหน้ากากอนามัยไปแจกจ่าย ซึ่งพยายามดูแลให้ได้มากที่สุด ส่วนถ้าใครมีปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ที่มีสาเหตุจากฝุ่น PM 2.5 สามารถเข้ารับการปรึกษาได้ที่คลินิกมลพิษทางอากาศ ณ โรงพยาบาลสังกัด กทม. 6 แห่ง ประกอบด้วย รพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์ฯ, รพ.กลาง, รพ.ตากสิน, รพ.เจริญกรุงประชารักษ์, รพ.สิรินธร และ รพ.ราชพิพัฒน์ ในเวลา 08.00-15.00 น. หรือขอรับคำปรึกษาผ่านสายด่วนสุขภาพสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร โทร. 1646 ตลอด 24 ชั่วโมง
กราฟิก :Jutaphun Sooksamphun
คุณกำลังดู: "วิกฤติฝุ่นพิษ" คุกคาม กทม. กำชับเข้มมาตรการลดฝุ่น-ดูแนวทางแก้ระยะยาว
หมวดหมู่: ภูมิภาค
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- เชียงใหม่อ่วมหนัก พิษฝุ่น PM 2.5 ทำ "ดอยหลวงเชียงดาว" หายไปแล้วทั้งลูก
- PM 2.5 เมืองเชียงใหม่ สูงกว่า 108 มคก./ลบ.ม. หมอป่วยมะเร็งร้องรัฐแก้ไขจริงจัง
- นักท่องเที่ยวหาย 30% ไฟป่ากาญจน์ ฮอตสปอตทั่วประเทศพุ่ง 8 หมื่นจุด เหนือกระอักจมฝุ่น
- มท.1 สั่งทุกจังหวัด ยกระดับคุมเข้มไฟป่าแก้ฝุ่น กทม. อาจต้อง “เวิร์กฟอร์มโฮม”
- มุมมองเกือบ 1 ปี กับชีวิตผู้ว่าฯ ชัชชาติ ผู้นำต้องฟังคำติ ไม่ใช่ฟังแต่คำชม(คลิป)
- "บิ๊กตู่" สั่งเข้มทุกฝ่าย เร่งแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ขอประชาชนงดกิจกรรมกลางแจ้ง