อ้างคุมได้แล้ว ”ซีเซียม” ไม่รั่วไหล ผู้ว่าฯ-คณะแจงกํากวม สั่งปิดเข้มโรงหลอม (คลิป)

อ้างคุมได้แล้ว ”ซีเซียม” ไม่รั่วไหล ผู้ว่าฯ-คณะแจงกํากวม สั่งปิดเข้มโรงหลอม (คลิป)

พ่อเมืองปราจีนบุรีตั้งโต๊ะแถลงยืนยันสารกัมมันตรังสี “ซีเซียม-137” ไม่แพร่กระจายออกจากโรงหลอมเหล็กใน อ.กบินทร์บุรี หลังตรวจพบอยู่ในฝุ่นแดงที่ได้จากการหลอมเหล็กในระบบปิดบรรจุถุงบิ๊กแบ็ก 24 ถุงไม่รั่วไหลออกจากรัศมี 10 เมตร แต่ไม่ฟันธงเป็นวัสดุกัมมันตรังสีที่หายไปจากโรงไฟฟ้าหรือไม่ สั่งกันพื้นที่ควบคุมให้เจ้าหน้าที่ตรวจละเอียดยิบทั้งดิน น้ำ อากาศ ไม่พบการปนเปื้อน ตรวจเลือดพนักงาน 70 คนไม่พบความผิดปกติ แต่ชาวบ้านใกล้เคียงผวาหนักหวั่นได้รับผลกระทบ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเดินหน้าสอบสวนการสูญหาย ไล่เรียงตั้งแต่คนที่เอาออกจากโรงไฟฟ้าไปจนเข้าสู่โรงหลอมยังไม่รู้หายไปได้อย่างไร พร้อมแจ้งดำเนินคดีโรงไฟฟ้าทำให้เกิดอันตรายจากการประกอบกิจการ

ส่อเค้าจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ กรณีวัสดุกัมมันตรังสี “ซีเซียม-137” ลักษณะเป็นท่อเหล็กเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 นิ้ว ยาว 8 นิ้ว น้ำหนัก 25 กก. หายไปจากโรงไฟฟ้าพลังงานไอน้ำบริษัท เนชั่นแนลเพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี บริษัทเข้าแจ้งความที่ สภ.ศรีมหาโพธิ เมื่อวันที่ 10 มี.ค. สร้างความหวาดวิตกให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงประชาชนที่ทราบข่าวเนื่องจากหากเกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ที่สัมผัสรุนแรงถึงขั้นเป็นมะเร็งหรือเสียชีวิต เจ้าหน้าที่ระดมกำลังออกปูพรมค้นหานาน 9 วันในที่สุดตรวจพบสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่สูญหายอยู่ในโรงหลอมเหล็กแห่งหนึ่งใน อ.กบินทร์บุรี หลังได้รับรายงาน ผวจ.ปราจีนบุรี สั่งปิดโรงงานและกันพื้นที่ห้ามพนักงานเข้าออกเพื่อความปลอดภัย

ความคืบหน้าเมื่อช่วงเช้าวันที่ 20 มี.ค. นายรณรงค์ นครจินดา ผวจ.ปราจีนบุรี นำกำลัง อส. พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปราจีนบุรี เดินทางไปที่โรงหลอมเหล็กบริษัท เค ที พี สตีล จำกัด เลขที่ 111 หมู่ 6 ต.หาดนางแก้ว อ.กบินทร์บุรี หลังตรวจพบสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่โรงหลอมดังกล่าว เจ้าหน้าที่สวมชุดป้องกันอย่างรัดกุมพร้อมนำอุปกรณ์ตรวจหารังสีตรวจวัดบริเวณโดยรอบโรงหลอมไม่พบการแพร่กระจายของรังสีแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวสอบถามนางจรูญ จตุกุล ชาวบ้านละแวกใกล้เคียงเผยว่า บ้านอยู่ห่างจากโรงหลอมเหล็กประมาณ 200 เมตร รู้สึกหวาดกลัวว่าจะได้รับผลกระทบจากสารกัมมันตรังสีที่ทางการระบุว่าพบอยู่ในโรงหลอม โดยเฉพาะบ้านเรือนที่อยู่ทิศทางใต้ลมเกรงว่าจะสูดดมรังสีเข้าไปโดยไม่รู้ตัว เช่นเดียวกับนายวินัย สระวิจิตร ชาวบ้านอีกคนเผยว่า กลัวว่าสารกัมมันตรังสีจะรั่วไหลออกมาเพราะบ้านอยู่ไม่ห่างจากโรงหลอมเหล็ก เท่าที่อ่านข่าวทราบว่าถ้าถูกรังสีจะทำให้เป็นแผลพุพองตามร่างกาย ตอนนี้ยังไม่ทราบว่าจะได้รับผลกระทบอย่างไรและจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

ที่ศาลากลางจังหวัดปราจีนบุรี เมื่อเวลา 11.00 น. นายรณรงค์ นครจินดา ผวจ.ปราจีนบุรี นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ พล.ต.ต.วินัย นุชชา ผบก.ภ.จ.ปราจีนบุรี นางมาละนี จินดารัตน์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปราจีนบุรี นายกิตต์กวิน อรามรุญ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมแถลงข่าวกรณีพบสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่หายไป

นายรณรงค์กล่าวว่า กรณีวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 หายไปจากที่ติดตั้งของบริษัท เนชั่นแนลเพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด จังหวัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์แก้ไขปัญหา ขณะที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันตินำกำลังเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์มาตรวจสอบตามโรงงานที่คาดว่าวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 จะมีโอกาสหลุดรอดเข้าไป มีการตรวจสอบติดตามมาอย่างต่อเนื่อง ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจวัดรังสีในโรงหลอมโลหะจากเศษเหล็กที่เลิกใช้แล้วในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี 5 แห่ง ได้แก่ บริษัทหยงชิง สตีล (ไทยแลนด์) จำกัด เลขที่ 139 หมู่ 13 ต.หัวหว้า อ.ศรีมหาโพธิ บริษัท เชาว์ สตีล อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) เลขที่ 518/1 หมู่ 9 ต.หนองกี่ อ.กบินทร์บุรี บริษัท เค ที พี สตีล จำกัด เลขที่ 111 หมู่ 6 ต.หาดนางแก้ว อ.กบินทร์บุรี บริษัท ที เอส บี เหล็กกล้า จำกัด เลขที่ 502 หมู่ 9 ต.หนองโพรง อ.ศรีมหาโพธิ และบริษัท สิงห์ไทย สตีล จำกัด เลขที่ 122 หมู่ 11 ต.หัวหว้า อ.ศรีมหาโพธิ ผวจ.ปราจีนบุรี เผยต่อไปว่า จากการตรวจสอบโรงหลอมเหล็กทุกแห่งยังไม่พบว่ามีการปนเปื้อน ใช้เครื่องมือตรวจหารังสีบริเวณโดยรอบในรัศมี 5 กม. พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างดิน น้ำ อากาศ ตรวจหาสารปนเปื้อนก็ยังไม่พบการรั่วไหลของกัมมันตรังสีซีเซียม-137 จนกระทั่งช่วงเย็นวันที่ 19 มี.ค. ขณะตรวจสอบในโรงหลอมเหล็กที่ ต.หาดนางแก้ว อ.กบินทร์บุรี พบการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในฝุ่นเหล็กที่ได้จากการหลอมในระบบปิด บรรจุอยู่ในถุงบิ๊กแบ็ก 24 ถุง น้ำหนักรวม 24 ตันวางอยู่ในพื้นที่ปิดของโรงหลอม อ.กบินทร์บุรี ในจำนวนนี้มี 1 ถุงนำไปถมดินบริเวณหลังโรงหลอม เจ้าหน้าที่ต้องให้ขุดดินใส่บิ๊กแบ็กกลับมาเก็บที่เดิม และใช้เครื่องมือตรวจสอบจุดที่นำไปฝังไม่มีการปนเปื้อนสารซีเซียมแต่อย่างใด จากนั้นประกาศให้กันพื้นที่บริเวณโรงหลอมเป็นเขตควบคุมทันที

“ขอยืนยันว่า สารซีเซียม-137 ที่ปนเปื้อนในฝุ่นโลหะถูกควบคุมและจำกัดอยู่ในพื้นที่เฉพาะ ไม่กระจายออกจากโรงหลอม จากการตรวจหาการปนเปื้อน ในร่างกายของพนักงานทั้งหมด 70 คน เป็นคนไทย 10 คน และต่างด้าว 60 คน ไม่พบการปนเปื้อนตาม ข้อมูลทางวิชาการที่ใช้เครื่องมือตรวจสอบ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติสามารถควบคุมและจำกัดสารซีเซียม-137 อยู่ในเฉพาะพื้นที่ อย่างไรก็ตามยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าสารซีเซียม-137 ที่พบในโรงหลอมเหล็กจะเป็นชิ้นเดียวกับที่สูญหายหรือไม่” ผวจ.ปราจีนบุรีกล่าว

นายเพิ่มสุข เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กล่าวว่า ตอนนี้โรงไฟฟ้ายังไม่รู้ว่าหายไปเพราะอะไร โรงไฟฟ้าแห่งนี้ถือครองวัสดุกัมมันตรังสีมาตั้งแต่ปี 2538 ดูแลดีมาตลอด และจุดติดตั้งอยู่บนไซโลสูงถึง 18 เมตร ระบบดูแลความปลอดภัยดีมากจึงได้รับอนุญาตให้ใช้ สำหรับสารซีเซียม-137 ในโรงหลอมเหล็ก เจ้าหน้าที่ตรวจพบในฝุ่นแดงหรือฝุ่นเหล็กที่มาจากการหลอมเหล็กให้เป็นน้ำเดือด จะมีเขม่าลอยขึ้นไป ซีเซียมมีจุดเดือดต่ำจึงระเหยไปกับเขม่า ส่วนเหล็กหลอมถูกรีดออกมาเป็นแท่งเป็นเส้นแล้วจึงไม่พบในเนื้อเหล็กที่รีดออกมา แต่ในเตายังมีฝุ่นแดงจากการหลอมเหล็กก็จะเอาไปรีไซเคิลเพราะฝุ่นเหล่านี้มีราคา ปรากฏว่าพบซีเซียมที่กลายเป็นผงเกลือปนเปื้อนอยู่ด้วย ไม่ได้มีทุกแห่ง จากการตรวจสอบฝุ่นแดงที่ส่งไปรีไซเคิลที่ จ.ระยอง ไม่พบว่าปนเปื้อนสารซีเซียมแต่อย่างใด

เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติกล่าวด้วยว่า ได้ปิดกั้นพื้นที่โรงหลอมเหล็กไว้เพื่อส่งทีมเข้าตรวจอย่างละเอียด ใช้เครื่องมือตรวจประสิทธิภาพสูงทั้งภายนอกและภายใน ทำให้มั่นใจได้ว่าไม่มีการรั่วไหลออกมา ขณะเดียวกันได้ส่งทีมสาธารณสุขเข้าไปตรวจร่างกายพนักงานในโรงหลอมว่ามีสารตกค้างหรือไม่ จากนี้ไปเป็นกระบวนการสอบสวนการสูญหาย จะพยายามสืบว่าคนที่เอาออกจาก โรงไฟฟ้าเอาไปไว้ที่ไหนและเอามาเข้าสู่โรงหลอมได้อย่างไร แต่ตอนนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้ 100% ว่าซีเซียมที่พบนี้มาจากโรงไฟฟ้าที่ทำหายจริง

นายกิตติ์กวิน อรามรุญ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เผยว่า จุดที่ตรวจพบค่าสารซีเซียมเป็นจุดหลอมเหล็กพื้นที่ปิด เมื่อตรวจสอบในโรงหลอมโดยรอบรัศมีห่างออกไปราว 10 เมตร ไม่พบค่าวัสดุกัมมันตรังสี จึงจำกัดวงเฉพาะที่ตรวจพบ ส่วนกรณีที่ประชาชนกังวลว่าจะมีการฟุ้งกระจาย ยืนยันว่าที่ปลายปล่องโรงหลอมมีฟิลเตอร์ดักจับ เมื่อฝุ่นเหล็กลอยขึ้นไปติดกับฟิลเตอร์และเย็นลงจะร่วงลงมาด้านล่าง

พล.ต.ต.วินัย นุชชา ผบก.ภ.จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนไล่เรียงตั้งแต่วัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 หลุดออกมาจากจุดที่ติดตั้งอยู่บนไซโลความสูง 18 เมตรได้อย่างไร และออกไปนอกโรงไฟฟ้าจนถึงโรงหลอมได้อย่างไร ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติไปแจ้งความให้ดำเนินคดีกับบริษัท เนชั่นแนลเพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด กับพวกในความผิดฐาน “ในกรณีที่เกิดอันตรายหรือเสียหายอันเกิดจากการประกอบกิจการตามใบอนุญาต ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ระงับเหตุในเบื้องต้นตามแผนป้องกันอันตรายจากรังสี และต้องแจ้งเหตุดังกล่าวให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ทราบทันที รวมทั้งต้องให้ข้อมูลและให้ความร่วมมือแก่พนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อแก้ไข บรรเทา หรือระงับซึ่งอันตรายหรือความเสียหายนั้น” ส่วนข้อมูลอื่นๆ ตำรวจอยู่ระหว่างสอบสวนเพิ่มเติม

นพ.สุรินทร์ สืบซึ้ง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี เผยว่า ได้ตรวจสุขภาพ (เลือด) ผู้เกี่ยวข้องในโรงหลอม ไม่พบความผิดปกติ และตรวจสอบการตรวจสุขภาพย้อนหลังยังไม่พบความผิดปกติด้านร่างกาย สิ่งหนึ่งที่จะดำเนินการเพิ่มคือ วางระยะเวลาในการตรวจสุขภาพผู้เกี่ยวข้องทั้งโรงไฟฟ้าและโรงหลอมเป็นเวลา 6 เดือน และ 1 ปี ในระยะนี้ยังไม่มีผลกระทบใดๆ

ด้านนายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า กรอ.ร่วมกับสำนัก งานปรมาณูเพื่อสันติ ลงตรวจสอบโรงหลอมเหล็กบริษัท เค ทีพี สตีล จำกัด อ.กบินทร์บุรี พบว่ามีสารซีเซียม-137 อยู่ในฝุ่นแดงบริเวณโรงงาน คาดว่าเกิดจากการหลอมอุปกรณ์ที่หายไปจากโรงไฟฟ้า และเมื่อวันที่ 2 มี.ค. โรงหลอมเหล็กได้นำฝุ่นแดง 12.4 ตัน ไปสู่กระบวนการรีไซเคิลที่ จ.ระยอง ให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบแล้วไม่พบว่ามีสารซีเซียม-137 ปนเปื้อน

ช่วงบ่ายวันเดียวกัน นายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ ผวจ.ระยอง นายวิเชียร ทองด้วง อุตสาหกรรมจังหวัดระยอง นำเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินทางไปยังบริษัท NFMR จำกัด เป็นโรงงานแปรรูปขยะโลหะเหล็ก ตั้งอยู่ในชุมชนบ้านหนองแฟบ ต.มาบตาพุด อ.เมืองระยอง หลังจากรับฝุ่นเหล็กจากโรงหลอมบริษัท เค ที พี สตีล จำกัด จ.ปราจีนบุรี มาตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค. จำนวน 12.4 ตัน รวม 16 ถุงบิ๊กแบ็กยังไม่ได้หลอม อยู่ในถุงมิดชิดวางเก็บไว้ภายในพื้นที่ปิดของโรงงาน นายไตรภพกล่าวว่า ในช่วงเช้าเจ้าหน้าที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติมาตรวจสอบผงเหล็กทั้ง 16 ถุงไม่พบสารซีเซียม-137 และค่าในฝุ่นเหล็ก 0.15 ไมโครซีเวิร์ต/ชั่วโมง ไม่เกินค่ามาตรฐาน อย่างไรก็ตาม มีคำสั่งให้โรงงานหยุดเคลื่อนย้าย คัดแยก และให้อุตสาหกรรมจังหวัดประสานส่งฝุ่นเหล็กทั้งหมดกลับไปยังโรงหลอมเหล็กที่ปราจีนบุรีภายใน 3 วัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับชาวบ้านในชุมชน

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการติดตามผลกระทบต่อสุขภาพจากสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ว่า จะเฝ้าระวังด้านสุขภาพประชาชน 3 กลุ่มอาการคือ กลุ่มอาการทางผิวหนัง เช่น ตุ่มพอง อักเสบ เนื้อตาย กลุ่มอาการทั่วไป เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว อุจจาระร่วง และกลุ่มอาการอื่นๆ เช่น เกิดเม็ดเลือดขาวต่ำกว่าปกติเป็นจำนวนมาก ขอบเขตการเฝ้าระวังสุขภาพ ได้แก่ 1.คนในโรงงานและละแวกใกล้เคียงต้องได้รับการตรวจสุขภาพทุกคนและตรวจหาสารปนเปื้อนตกค้างในปัสสาวะ ต้องใช้ห้องปฏิบัติการพิเศษของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเป็นผู้ตรวจสอบ 2.คนในอำเภอนั้นๆต้องสังเกตอาการว่ามีอะไรผิดปกติอย่างไรหรือไม่ และ 3.คนใน จ.ปราจีนบุรี ตั้งแต่มีข่าวยังไม่มีคนป่วยใน 3 กลุ่มอาการที่ผิดสังเกต ทั้งนี้ ผลกระทบจากสารซีเซียม-137 มากน้อยขึ้นกับความเข้มข้นของกัมมันตภาพรังสีที่ได้รับกับระยะเวลาการสัมผัส เกิดขึ้นได้กับคนทุกกลุ่ม ดังนั้น จะเฝ้าระวังทุกคนในพื้นที่ แต่จะจับตาดูเป็นพิเศษในกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว

นายสุเมธา วิเชียรเพชร อดีตผู้เชี่ยวชาญสารเคมีและวัตถุอันตราย กรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ทราบจากข่าวว่าตัวซีเซียม-137 ถูกหลอมไปแล้ว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยืนยันว่าไม่มีสารกัมมันตรังสีถูกปล่อยออกสู่สภาพแวดล้อม ส่วนตัวคิดว่าตะกรันเหล็กที่ถูกหลอมและตัวกรองที่ดักอยู่บนปล่องจะสามารถดักสารต่างๆได้หมดหรือไม่ เพราะเมื่อมีการเผาสารต่างๆจะลอยขึ้นสูง พอเย็นตัวลงอาจตกลงสู่สภาพแวดล้อม จึงต้องมีการติดตามสำรวจสิ่งแวดล้อมการปนเปื้อนในดินในรัศมี 5 กม. เพื่อยืนยันให้ประชาชนมั่นใจว่ามีการกระจายตัวของสารกัมมันตรังสีหรือไม่ ทั้งนี้ คพ.ไม่ได้ดูแลเรื่องสารกัมมันตรังสีโดยตรง แต่ดูเรื่องการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม คพ. มีเครื่องมือตรวจวัดสารกัมมันตรังสีและสามารถเข้าไปช่วยตรวจได้ เพื่อป้องกันการตื่นตระหนกของประชาชน

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์กรณีสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 หายจากโรงไฟฟ้าพลังไอน้ำใน จ.ปราจีนบุรี และถูกนำไปหลอมในโรงหลอมเหล็กแล้วว่า ให้กระทรวงอุตสาหกรรมติดตามอยู่ ไปดูว่าหายไปเมื่อไหร่ ไปอยู่ไหนมาตั้งนาน เป็นหน้าที่ของหน่วยงานนั้นๆต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว จะให้นายกฯไปตามเองคงไม่ใช่ ต้องไปกำกับติดตามกันว่าตรงไหนอย่างไร รัฐบาลแก้ทุกอย่างอยู่แล้ว ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใด จะเป็นรักษาการหรือไม่รักษาการก็ทำงาน ไม่เห็นจะยากอะไร

คุณกำลังดู: อ้างคุมได้แล้ว ”ซีเซียม” ไม่รั่วไหล ผู้ว่าฯ-คณะแจงกํากวม สั่งปิดเข้มโรงหลอม (คลิป)

หมวดหมู่: ภูมิภาค

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด