"อ.เจษฎ์" ขอแย้ง "ลุงบุญ" ในภาษาพาที ตุ๊กแกไม่ได้เรียกงูมากินตับ เพราะท้องอืด

"อ.เจษฎ์" ขอแย้ง "ลุงบุญ" ในภาษาพาที ตุ๊กแกไม่ได้เรียกงูมากินตับ เพราะท้องอืด

"อ.เจษฎ์" ขอแย้ง "ลุงบุญ" ในภาษาพาที ตุ๊กแกไม่ได้เรียกงูมากินตับ ล้วงคอให้ เพราะท้องอืด เนื่องจากกินแมลงเยอะ แต่เป็นพฤติกรรมการล่าเหยื่อของงู

วันที่ 25 เม.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีเนื้อหาบทต่างๆ ในหนังสือเรียนภาษาไทย "ภาษาพาที" ที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ในตอนนี้ ทั้งเรื่องของการกินไข่ต้ม การแบ่งเงินทำบุญ การเติมน้ำปลาเพื่อลดความเผ็ด และล่าสุด เรื่องตุ๊กแก ที่ส่งเสียงเรียกงูเขียวมากินตับ

ซึ่ง อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ได้โพสต์ข้อมูลลงในเฟซบุ๊กเพจ "อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์" โดยระบุว่า "ตุ๊กแก ไม่ได้เรียกงูเขียวมากินตับแก่ๆ ครับ ... แต่งูเขียวกำลังกินมันทั้งตัวนั่นแหละ"

ซึ่งเนื้อหาในหนังสือเรียนภาษาไทย "ภาษาพาที" ที่กำลังถูกพูดถึงนั้น เป็นฉบับหลักสูตรใหม่ ปี พ.ศ 2551 ในบทที่ 5 "ชีวิตที่ถูกเมิน"ระบุช่วงเวลาหลังเลิกเรียน เด็กๆ กลุ่มหนึ่งกำลังยืนมุงดู "งูเขียวรัดตุ๊กแก" ซึ่งมันไม่ได้หยอกล้อกัน แต่กำลังสู้กันอยู่ แถมตุ๊กแกยังเอาขาหน้าปิดปากไว้ ซึ่ง ลุงบุญ คนดูแลสวนของโรงเรียน อธิบายว่า ที่เป็นแบบนี้ เพราะตุ๊กแกไม่ยอมให้งูเขียวเข้าไปกินตับ จึงเอาขาหน้าปิดปากไว้ ไม่ให้ปากมันอ้า และว่าลุงเคยได้ยินผู้ใหญ่เล่าให้เด็กๆ ฟังว่า งูเขียวชอบกินตับตุ๊กแก ตุ๊กแกตัวไหนที่มีอายุมากแล้ว จะร้อง "ตับแก่ๆ" หรือ "ตุ๊กแกๆ" เพื่อให้งูเขียวมากินตับ

แต่พอลุงโตขึ้นก็รู้ความจริงว่า งูไม่ได้กินตับตุ๊กแก แต่ที่ตุ๊กแกร้องแล้วอ้าปากให้งูมาล้วงคอ เพราะมันกินแมลงมากไปจนท้องอืด อาหารไม่ย่อย จึงส่งสัญญาณบอกงูให้มาช่วย เป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันของสัตว์โลก

ซึ่ง อ.เจษฎ์ ได้อธิบายว่า ต้องขอเฉลยความจริง แย้งลุงบุญ (และผู้เขียนหนังสือเรียนเล่มนี้ ซึ่งในหน้าถัดๆ ไป ก็ไม่ได้เฉลยไว้ด้วย) เผื่อเด็กไทยจะจำไปผิดๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมของ "ตุ๊กแกกับงู" นะครับ มันไม่ได้ช่วยเหลือเกื้อกูลอะไรกัน มันกินกันสดๆ นั่นแหละ

ในความจริงแล้ว มันเป็นพฤติกรรมการ "ล่าเหยื่อ" ของงูเขียว ที่ตามเสียงร้องของตุ๊กแก ซึ่งก็ส่งเสียงตามธรรมชาติอยู่แล้ว โดยเสียงร้องของตุ๊กแกนั้น ถูกใช้ทั้งเป็นการประกาศอาณาเขต ใช้ในการเรียกและเลือกคู่ และบ่งบอกถึงความสมบูรณ์แข็งแรงของตุ๊กแกตัวนั้น จากเสียงที่ดังกังวานออกมาจากปอดของมัน

สำหรับเรื่องความเชื่อของคนโบราณ ที่ว่า "งูเขียวพระอินทร์กินตับตุ๊กแก ตามที่ตุ๊กแกร้องเรียก" นั้น คุณนิค นิรุทธ์ ชมงาม ผู้เชี่ยวชาญด้านงูของประเทศไทย แอดมินแฟนเพจเฟซบุ๊ก Nick Wildlife ได้เคยจัดทำคลิปวิดีโอไขข้อสงสัยเอาไว้โดยอธิบายว่า "งูเขียวพระอินทร์กินตับตุ๊กแก" ตามตำนานเล่าขานจากคนโบราณว่า เมื่อตุ๊กแกมีอายุมาก ตับจะเริ่มแก่ การทำงานของร่างกายย่ำแย่ลง จึงต้องร้องให้งูเขียวพระอินทร์เลื้อยเข้ามากินตับ เพื่อสร้างตับขึ้นใหม่และมีชีวิตยืนยาวอีกครั้ง ... นั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

แต่เป็นพฤติกรรมในการล่าเหยื่อของงู และการเอาตัวรอดของตุ๊กแกตามธรรมชาติ โดยการล่าเหยื่อของงูเขียวพระอินทร์ จะเลื้อยไปยังบริเวณที่คิดว่ามีตุ๊กแกอาศัยอยู่ จากนั้นจะรอจังหวะเพื่อพุ่งฉกตุ๊กแก เพื่อกินเป็นอาหาร

นอกจากนี้ หากกัดได้แล้ว จะม้วนตัวรัดตุ๊กแกอย่างรวดเร็ว เพื่อให้เหยื่ออ่อนแรงลง ส่วนใหญ่จะใช้เวลานานพอสมควรในการรัดเหยื่อ เนื่องจากตุ๊กแกเป็นสัตว์ที่แข็งแรงมาก

จากนั้น เมื่องูคิดว่าตุ๊กแกหมดแรงแล้ว จะค่อยๆ เลื้อยมาบริเวณส่วนหัว โดยสาเหตุที่งูกินทางหัวตุ๊กแก เนื่องจากหากเริ่มกินจากส่วนล่าง ขาเหยื่อจะกางออกและสร้างความลำบากในการกิน

ทั้งนี้ หากตุ๊กแกยังไม่หมดแรง ด้วยความเป็นสัตว์ที่ดุดัน จะไม่ยอมให้ตัวเองถูกกินง่ายๆ ตุ๊กแกจะงับหัวงูเขียวอย่างรวดเร็ว เมื่อผู้คนพบเห็น จึงเข้าใจผิดว่างูเขียวจะเลื้อยเข้าไปกินตับ

สรุปคือ งูเขียว ไม่ได้มาช่วยล้วงท้องตุ๊กแกเพื่อแก้ท้องอืด ไม่ได้ช่วยกินตับแก่ๆ เพื่อจะสร้างตับใหม่ขึ้นมา แต่งูมันกำลังพยายามกินตุ๊กแก เพียงแต่ว่าถ้าตุ๊กแกยังไม่ถูกรัดจนหมดแรง มันจะงับหัวงู ทำให้คนเข้าใจว่ามันอ้าปากให้งูเข้าไป.

ที่มาจาก เฟซบุ๊กอ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์

คุณกำลังดู: "อ.เจษฎ์" ขอแย้ง "ลุงบุญ" ในภาษาพาที ตุ๊กแกไม่ได้เรียกงูมากินตับ เพราะท้องอืด

หมวดหมู่: สังคม

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด