ออสเตรเลียจ่อซื้อขีปนาวุธเพิ่ม ต่อต้านภัยคุกคามจากจีน

รายงานด้านกลาโหมของออสเตรเลีย ระบุว่า ออสเตรเลียจะเร่งความพยายามในการซื้อขีปนาวุธพิสัยไกลเพื่อตอบโต้ภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นจากจีน และเตือนว่าสภาพความโดดเดี่ยวทางภูมิศาสตร์ของออสเตรเลียไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถปกป้องประเทศได้ในยุคขีปนาวุธอีกต่อไป
รายงานยังระบุว่า จากแผนการดังกล่าว รัฐบาลจะต้องใช้งบประมาณราว 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือราว4.37 แสนล้านบาท ซึ่งรวมถึงเงินงบประมาณที่ถูกโยกย้ายมาจากโครงการอื่นที่ถูกยกเลิกไปแล้วอีกราว 7.8 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย
รายงานการทบทวนยุทธศาสตร์กลาโหม (DSR) ความยาว 110 หน้า ฉบับนี้ นับว่าเป็นการยกเครื่องนโยบายการป้องกันประเทศของออสเตรเลียครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งมีขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นจากท่าทีของจีนที่มีต่อไต้หวัน ซึ่งจีนเคยประกาศหลายครั้งว่าจะใช้กำลังหากจำเป็น นอกจากนี้ กองทัพเรือจีนยังได้ตั้งฐานทัพในทะเลจีนใต้ โดยอ้างว่าพื้นที่บางส่วนเป็นดินแดนของตน ซึ่งขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ
รายงานระบุว่า "การเสริมสร้างกำลังทหารของจีนในขณะนี้ นับว่าใหญ่ที่สุดและมีความทะเยอทะยานที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศใดๆ นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 และเกิดขึ้นโดยปราศจากความโปร่งใสหรือการรับรองใดๆ ต่อภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ถึงเจตนาทางยุทธศาสตร์ของจีน"
นายกรัฐมนตรีแอนโทนีอัลบาเนซี กล่าวว่า รายงานฉบับนี้จะเป็นการกำหนดอนาคต แทนที่จะรอให้อนาคตมากำหนดเรา" และคำแนะนำดังกล่าวจะทำให้ออสเตรเลียสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น เตรียมพร้อมมากขึ้น และปลอดภัยมากขึ้น
ด้านนายริชาร์ด มาร์เลส รัฐมนตรีกลาโหมออสเตรเลีย เสนอแนะให้กองกำลังติดอาวุธของออสเตรเลียเปลี่ยนจุดโฟกัสจากการป้องกันภาคพื้นดิน เป็นความสามารถในการโจมตีระยะไกลด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ผลิตขึ้นในออสเตรเลีย เขากล่าวว่า การได้มาซึ่งขีปนาวุธโจมตีที่มีความแม่นยำ ที่มีพิสัยการยิงไกลกว่า 500 กม. จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการยิงของกองทัพ และความคล่องตัวที่จำเป็นในอนาคต
รายงานประจำปี 2565 ยังเตือนถึง "สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด" ที่อาจเกิดขึ้นกับกองทัพออสเตรเลีย ซึ่งจีนเข้าควบคุมดินแดนในภูมิภาคที่อยู่ใกล้เคียง ในระหว่างสงครามที่อาจเกิดขึ้นกับไต้หวัน
รายงานเชิงกลยุทธ์ยังแนะนำให้ออสเตรเลียเสริมสร้างการป้องกันทางตอนเหนือของประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติการของกองทัพออสเตรเลียจากฐานทัพทางตอนเหนือ และออสเตรเลียจะเร่งดำเนินการตามแผนเพื่อให้ได้มาซึ่งระบบยิงจรวดหลายลำกล้อง (HIMARS) ที่ใช้ภาคพื้นดิน ซึ่งกองทัพยูเครนใช้ได้ผลอย่างมากในการขัดขวางการรุกคืบของรัสเซีย ขณะที่โครงการจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงแผนการจัดซื้อปืนอัตตาจรและยานเกราะกระสุนใหม่สำหรับกองทัพ จะถูกระงับเพื่อนำเงินมาใช้สนับสนุนการจัดลำดับความสำคัญใหม่ของกองทัพออสเตรเลีย
นอกจากนี้ รายงานยังแนะนำให้จัดหาขีปนาวุธต่อต้านเรือพิสัยไกลสำหรับเครื่องบินรบ แต่ระบุว่าเครื่องบินทิ้งระเบิดล่องหน บี-21ไรเดอร์ รุ่นใหม่ของสหรัฐฯ ในขณะนี้ ยังไม่ใช่ตัวเลือกที่เหมาะสม
เมื่อเดือนที่แล้ว กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ อนุมัติการขายขีปนาวุธร่อน 220 ลูกให้กับออสเตรเลียในข้อตกลงมูลค่า 895 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย โดยขีปนาวุธที่ไม่ใช่นิวเคลียร์ดังกล่าว จะถูกใช้โดยเรือดำน้ำชั้นเวอร์จิเนียที่ออสเตรเลียซื้อมาจากสหรัฐฯ ภายใต้ข้อตกลงการป้องกัน "ออคุส" (Aukus) ที่เป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ.
คุณกำลังดู: ออสเตรเลียจ่อซื้อขีปนาวุธเพิ่ม ต่อต้านภัยคุกคามจากจีน
หมวดหมู่: ต่างประเทศ
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- ไฟไหม้โรงเรียนมัธยมคองโก เด็ก นร.กระโดดตึกหนีตาย บาดเจ็บนับร้อยราย (คลิป)
- บึม 2 ครั้งซ้อนถล่ม สนง.ต่อต้านก่อการร้ายปากีฯ ดับอย่างน้อย 12 ศพ
- กงสุล-กกต. ตรวจเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่ออสเตรเลีย หารือส่งบัตรกลับไทย
- 8 วัยรุ่นออสเตรเลีย บุกปล้นร้านไทย กลางไทยทาวน์ซิดนีย์
- ออสเตรเลียพบซากเรือญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
- เลือกตั้ง 2566 : แก้ส่งบัตรเลือกตั้งจาก"นิวซีแลนด์" ไม่ทัน ให้ จนท. ถือส่ง